วันพุธ, มกราคม 25, 2549

 

บทคาถาว่าด้วยการแผ่เมตตา

บทคาถาว่าด้วยการแผ่เมตตา


คาถาแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพพะยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

--------------------------------------------------------------------------------

คาถาแผ่เมตตาตนเอง
อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
อะหัง นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พันจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด

--------------------------------------------------------------------------------


คาถาแผ่เมตตาพรหมวิหารสี่


บทเมตตา

สัพเพ สัตตา
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ
จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกันเถิด
อัพยาปัชฌา โหนตุ
จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อะนีฆา โหนตุ
จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กาย ทุกข์ใจเถิด
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
จงเป็นผู้มีสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด


บทกรุณา

สัพเพ สัตตา
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ
จงพ้นจากทุกข์เถิด


บทมุทิตา

สัพเพ สัตตา
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
มา ลัทธะสัมปัตติโต วิมุจจันตุ
จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันตนได้แล้วเถิด


บทอุเบกขา

สัพเพ สัตตา
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งสิ้น
กัมมัสสะกา
เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน
กัมมะทายาทา
เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนิ
เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธุ
เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระณา
เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสันติ
กระทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา
ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

--------------------------------------------------------------------------------

คาถาแผ่ส่วนกุศล

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่มารดา บิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดา บิดาของข้าพเจ้ามีความสุข
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้ามีความสุข
อิทัง เม คุรูปัชฌายาจริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจริยา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้ามีความสุข
อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเทวา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเวรี
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีความสุขทั่วหน้ากันเทอญ

--------------------------------------------------------------------------------

บทกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร

เมื่อเสร็จพิธีทำบุญและพระสงฆ์กล่าวรับแล้วให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรของเราโดยว่าดังนี้

ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลจากการเจริญภาวนานี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดหรือภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านได้รับผลบุญนี้ แล้วโปรดอโหสิกรรม และอนุโมทนายบุญแก่ข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเทอญ

 

บทสวดมนต์ไหว้พระ บูชาพระรัตนตรัย คำแปล

* อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ. (กราบ)
* สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ. (กราบ)
* สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ. (กราบ)



* พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน (กราบ)
* พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ตรัสไว้ดีแล้ว , ข้าพเจ้าขอนมัสการ พระธรรม (กราบ)
* พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์ (กราบ)
บทสวดนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า


* นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ )



* ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบ (กราบ)

บทสวดพุทธานุสสติ


* อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุขโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ,สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวาติ (กราบ)



* เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส และตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความเจริญ เป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ดังนี้.

บทสวดธัมมานุสสติ


* สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหี ติ (กราบ)



* พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

บทสวดสังฆานุสสติ


* สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง, จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย,
ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย, อัญชะลีกะระณีโย, อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ (กราบ)



* พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติดีแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติตรงแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติสมควรแล้ว
ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ (กราบ)
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,
พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง,
พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,
กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ, ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี กรรมน่าติเดียนอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว
ในพระพุทธเจ้า, ขอพระพุทธเจ้า จงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อสำรวมระวัง ในพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป.

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,
ธัมเม กุกัมมัง ปะกะตัง มายา ยัง,
ธัมโม ปฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,
กาลันตะเร สังวะริตุง วะ ธัมเม
ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี กรรมน่าติเดียนอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว
ในพระธรรม, ขอพระธรรม จงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อสำรวมระวัง ในพระธรรมในกาลต่อไป.

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,
สังเฆ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง,
สังโฆ ปฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,
กาลันตะเร สังวะริตุง วะ สังเฆ
ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี กรรมน่าติเดียนอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว
ในพระสงฆ์, ขอพระสงฆ์ จงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อสำรวมระวัง ในพระสงฆ์ในกาลต่อไป.

 

อาราธนาศีล ๕

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ
สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ฯ ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต
วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ
ยาจามะ ฯ ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัต
ถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ฯ
อาราธนาศีล ๘ ในวันพระก็แบบเดียวกัน ต่างกันแต่
เปลี่ยน " ปัญจะ" เป็น "อัฏฐะ" เท่านั้น



คำอาราธนาอุโบสถศีล

มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมัน
นาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ ฯ ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต
ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง
ยาจามะ ฯตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ
อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ ฯ


อาราธนาพระปริตร

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะ
ทุกขะวินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง วิปัตติปะฏิพา
หายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะภะยะวินาสายะ
ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัต
ติสิทธิยา สัพพะโรคะ- วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง ฯ


อาราธนาธรรม

พรัหมา จะ โลกาธิปะติ สะหัมปะติ กัตอัญชะลี
อันธิวะรัง อะยาจะถะ สันธีตะ สัตตาปปะรักชักขะชาติกา
เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง ฯ

วันเสาร์, มกราคม 14, 2549

 

non sense

ไม่ทำตามคำสอน อย่ามาอ้อนเรียกอาจารย์


มีเวลามากกว่า

วันอาทิตย์, มกราคม 08, 2549

 

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

ได้แสดงธรรมโอวาทหลายเรื่อง เช่นเรื่อง ของเก่าปกปิดความจริง ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

การพิจารณาต้องน้อมเข้ามาสู่ภายใน พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มันก็วางเอง

คูบาญาปู่มั่น ท่านว่า "เหตุก็ของเก่านี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าของเก่า" ของเก่านี่แหละมันบังของจริงอยู่นี่ มันจึงไม่รู้ ถ้ารู้ว่าเป็นของเก่า มันก็ไม่ต้องไปคุย มีแต่ของเก่าทั้งนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ของเก่า เวลามาปฏิบัติภาวนา ก็พิจารณาอันนี้แหละ ให้มันรู้แจ้งเห็นจริง ให้มันรู้แจ้งออกมาจากภายใน มันจึงไปนิพพานได้ นิพพานมันหมักอยู่ในของสกปรกนี่ มันจึงไม่เห็น พลิกของสกปรกออกดูให้เห็นแจ้ง

นักปราชญ์ท่านไม่ละความเพียร เอาอยู่อย่างนั้นแหละ เอาจนรู้จริงรู้แจ้ง ทีนี้มันไม่มาเล่นกับก้อนสกปรกนี้อีก พิจารณาไป พิจารณาเอาให้นิพพานใสอยู่ในภายในนี่ ให้มันอ้อ นี่เอง ถ้ามันไม่อ้อหนา เอาให้มันถึงอ้อ จึงใช้ได้

ครั้นถึงอ้อแล้วสติก็ดี ถ้ามันยังไม่ถึงแล้ว เต็มที่สังขารตัวนี้ พิจารณาให้มันรู้แจ้งเห็นจริงในของสกปรกเหล่านี้แหละ ครั้นรู้แจ้งเข้า รู้แจ้งเข้า มันก็เป็นผู้รู้พระนิพพานเท่านั้น

จำหลักให้แม่น ๆ มันไม่ไปที่ไหนหละ พระนิพพาน ครั้นเห็นนิพพานได้แล้ว มันจึงเบื่อโลก เวลาทำก็เอาอยู่นี่แหละ ใครจะว่าไปที่ไหนก็ตามเขา ละอันนี่แหละทำความเบื่อหน่ายกับอันนี้แหละ ทั้งก้อนนี่แหละ นักปฏิบัติต้องพิจารณาอยู่นี่แหละ ชี้เข้าไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ให้พิจารณากาย พิจารณาใจ ให้เห็นให้เกิดความเบื่อหน่าย

การต่อสู้กามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทุกทาง หากพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็ถอนได้

กามกิเลสนี้แหละ เป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่ากันตาย ชิงดีชิงเด่น กิเลสตัวเดียว ทำให้มีการต่อสู้แย่งชิงกัน ทั้งความรักความชัง จะเกิดขึ้นในจิตใจก็เพราะกาม

นักปฏิบัติต้องเอาให้หนักกว่าธรรมดา ทำใจของตนให้แน่วแน่ มันจะไปสงสัยที่ไหน ก็ของเก่าปรุงแต่งขึ้นเป็นความพอใจไม่พอใจ มันเกิดมันดับอยู่นี่ ไม่รู้เท่าทันมัน ถ้ารู้เท่า ทันมัน ก็ดับไป ถ้าจี้มันอยู่อย่างนี้ มันก็ค่อยลดกำลังไป ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทำในปัจจุบัน แจ้งอยู่ในปัจจุบัน

วันเสาร์, มกราคม 07, 2549

 

ประวัติ และคำสอนของหลวงพ่อกล้วย (หลวงพ่อสำราญ ธัมมธุโร)

คัดลอกจากหนังสือโลกทิพย์ ปีที่ 25 ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2548 ฉบับที่ 425

หากต้องการดูรูปภาพประกอบ ลองหาซื้อหนังสือดูนะครับ

ขออนุโมทนาบุญกับคุณ คะนอง เนินอุไร คุณสุภาพร เชื่องช้าง และชาวคณะโลกทิพย์ ที่ได้ไปสัมภาษณ์ และเผยแผ่ คำสอนของหลวงพ่อ ให้พวกเราได้อ่านด้วยครับ
………………………………………………………………………………………………

หลวงพ่อสำราญ ธัมมธุโร (หลวงพ่อกล้วย)
ผู้เข้าถึงพระธรรม ตั้งแต่ยังไม่ได้บวช ผู้ออกผนวชเพราะว่างแล้วจากทุกสิ่ง

อีกครั้ง กับคำแนะนำจากสมาชิก ผู้อ่านหนังสือโลกทิพย์ นามว่าคุณเตื้อง รัฐนันท์ เต็มไพบูลย์ ที่ได้นำภาพของพระพุทธรูป และการบันทึกเรื่องราว ของหลวงพ่อกล้วย มาให้กองบรรณาธิการโลกทิพย์และบอกว่า ผมได้ไปกราบหลวงพ่อมาแล้ว ท่านมีข้อธรรมที่น่าสนใจ และคิดว่า เป็นประโยชน์กับคนอีกมาก จึงอยากให้กองบรรณาธิการโลกทิพย์ ลองพิจารณาดู และไปหาท่าน เพราะท่านยินดีต้อนรับทุกคน ในทางธรรมเสมอ

เมื่อได้รับข้อมูลจากคุณรัฐนันท์แล้ว ต่อจากนั้นประมาณ 1 เดือน ก็ได้ติดต่อไปหาหลวงพ่อ และไปกราบท่านที่วัดป่าธรรมอุทยาน ก็ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อ เป็นอย่างสูง รวมไปถึงความเป็นกันเอง ของคณะศรัทธาลูกศิษย์ ของหลวงพ่อกล้วย ด้วยที่อำนวยความสะดวก ทุก ๆ อย่างให้ ทางกองบรรณาธิการ ก็ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย

ในขณะที่ได้เข้าไปกราบ หลวงพ่อท่านก็พูดขึ้นทันทีว่า ต้องการธรรมะ ก็อยู่ที่ตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนวิธีการปฏิบัติ ตามพระธรรมในพระพุทธศาสนา ก็มีทั้งขั้นต่ำ ขั้นกลาง และขั้นสูง ผู้ปฏิบัติเลือกปฏิบัติ ได้ตามสมควรกับอุปนิสัยของตน และที่สุดแล้ว หลวงพ่อท่านก็เน้นย้ำคำว่า

เรื่องการปฏิบัตินั้น จะต้องมีจุดหมายปลายทาง คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ และการจะได้มาซึ่งความสะอาด ความบริสุทธิ์ นี้ต้องขยันหมั่นเพียร ทั้งกลางวัน และกลางคืน อยู่ทุกขณะจิต ธรรมชาติของจิต จะต้องสะอาด และการปฏิบัติธรรม ต้องทำเอาเอง แล้วต้องตามดูอยู่ทุกขณะจิต

พร้อมทั้งแยกแยะตามความเป็นจริง และที่น่าสนใจมาก สำหรับฆราวาสอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คือท่านบอกว่า การทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม เวลาทำงานก็ตาม ก็ดูจิตไปด้วย เมื่อเรารู้จิต มีสติแยกอยะได้อย่างถูกต้อง เราก็จะเป็นผู้สะอาด บริสุทธิ์ ในที่สุด ดังที่หลวงพ่อ ได้เทศน์ฝากถึงผู้อ่านโลกทิพย์ดังนี้

เริ่มต้นการเทศนาว่าด้วย เรื่องการปฏิบัติให้มีความสนุก

ญาติโยมที่มาวัดวันนี้ นั่งนาน ๆ เกิดเวทนาไหม นี่แหละ มาวัดก็เอาตามสบายของพวกเรา ท่านให้ละรูป ละนาม ก็ยังมาแสวงหารูป หานาม ท่านให้ละรูป ละนามออกให้หมด แต่ก็ยังเป็นบุญที่ได้ครองบุญ ครองกุศลให้คนอื่นได้บุญ ได้กุศล ได้สร้างตบะ สร้างบารมี ถ้าดูจิตให้สนุก อยู่คนเดียวก็สนุก ถ้าการปฏิบัติธรรมไม่สนุก แสดงว่าคนนั้นมีจิตใจท้อถอย

ถ้าปฏิบัติธรรมแล้ว สนุกสนานเพลิดเพลิน มีความพอใจฝักใฝ่อยู่คนเดียวก็สนุก นั่นแหละยิ่งสนุกใหญ่ จิตมีความอาจหาญ มีความกล้าหาญ กล้าได้ กล้าเสีย กล้าตาย อยู่เหนือตาย ตายก่อนที่จะตายเสียอีก นั่นแหละต้องทำให้ จิตของเรา ตายจากกิเลส ซึ่งกว่าจะทำได้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เยอะ



กลัวผีเพราะจิตหลอก

ตอนบวชพระใหม่ ๆ บางวันยืนอุ้มบาตร ทั้งวัน ทั้งคืน ฝนก็ตก จะไปปักกลดอยู่กลางป่าช้า จะไปไหนก็ไปไม่ได้ เจอลม เจอ ฝน หนาว ก็หนาว ทนทุกข์ทรมาน ทั้งกลัวผีก็กลัว ฝึกใหม่ ๆ บวชใหม่ ๆ นี่กลัวผีมากทีเดียว ช่วงยังไม่บวชก็ไม่ค่อยกลัวนะ พอมาบวชนุ่งผ้าเหลืองแล้ว วันแรกก็เกิดกลัวผีอย่างจับใจ เพราะว่าจิตมันหลอก

เขาบอกว่า ผีชอบหลอกพระบวชใหม่ เข้าไปอยู่ในกุฏินี่มีรูนิดเดียว ก็หาสำลีไปอุดไว้เลย กลัวผีมันจะมองเห็น มันหลอกถึงขนาดนั้นเลย ขนาดจะไปเบา ไปหนัก ยังต้องกลั้นเอาไว้ จนตะวันโผล่ ถึงลงมาได้ เพราะกลัว นึกถึงหลวงปู่หลวงตา ที่บำเพ็ญมามาก ๆ จิตของท่านคงมีกำลัง ช่วงนั้นแหละ ถึงได้เข้ามาอยู่ป่าช้า มาอยู่คนเดียว เมื่อก่อนอยู่ในบ้าน

ขนาดจะมาเดินจงกรมใหม่ ๆ นี่ยังถือไฟฉายด้วย ก่อนจะเดินจงกรมสร้างขันติ ก็เอาไฟฉานนี้กราดไปทั่วเลย กลัวผีหลอกจะมานั่งดู มันเดินมา จิตมันคิดไป ปรุงแต่งไป เราก็เดินเร็วขึ้น ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา เอาจิตให้อยู่ เอาจนเหนื่อย จนเหงื่อแตกซิก ๆ เลย

ก่อนจะเข้าที่พัก ก็เอาสังกะสี 7-8 แผ่น มาทำเป็นวงกลม ล้อมต้นไม้เอาไว้ แล้วเอากลดไปกางไว้ข้างใน ก่อนที่จะเข้าไป อยู่ในซุ้มในกลด พอถึงประตู ก็วิ่งปรูดเข้าไปเลย กลัวผีหลอกมันดึงขา ขนาดอยู่ป้าช้านะ ออกมาฝึกอยู่ป่าช้า มันยังหลอกขนาดนั้นนะจิตของเรา

กลัวเกร็งจนปฏิบัติผิด ๆ ทำให้จิตตึงเกินไป

ฝึกไป ฝึกมา ดับไป ดับมา ก็เกิดความกล้าหาญมากขึ้น ๆ ทีละเล็ก ละน้อย ต่อมาก็นอนอยู่ตามหลุมศพ ในป่าช้าอยู่คนเดียว หลุมศพใหม่ ๆ เสียด้วย เป็นศพจากอุบัติเหตุ รถชนกันตาย เขาก็เอามาฝัง เราก็ได้ที่แล้ว ก็เอเสื่อมาปูอยู่บนหลุมศพ เอากลดมากาง เมื่อก่อนมันรก

เดินเข้าป่าช้านี่ ต้องเอามีดถาง ๆ เดินมาไม่ได้มันรก พอมานั่ง มันก็กลัว นอนหงายก็กลัว สู้นอนคว่ำหน้า ใส่กับผีหลอกเลย ถึงขนาดนั้น ใหม่ ๆ นี่สติไม่พ่งจิต ไม่อยากจะออกไป ให้รับรู้ มันกลัว มันเพ่ง ๆ จ้องระวัง ตรงนี้ก็สำคัญ เราคอยระวังจิตของเรา มากเกินไป

ไม่อยากให้จิตของเราออกไปรับรู้ต่าง ๆ กลัวมันจะเกิดความกลัว สติมันก็เลยเพ่ง เหมือนแมวคอยตะครุบหนู ก็เลยตึงเครียดกัน จิตก็ตึง สติก็ตึงทั้งคืน เช้าขึ้นมานี่กายสะท้านหมดเลย ขากรรไกรนี่จะสั่น กระทบกันอยู่ตลอด คือมันปฏิบัติผิด

ปล่อยให้จิตรู้ แต่ระวังอย่าให้จิตหลง

ตามความจริงแล้ว จิตของเรา เป็นธาตุรู้ เราให้เขารับรู้ แต่ไม่ให้เขาเกิด ถ้าเขาจะเกิดก็เอาสติ เข้าไปดับ ใช้วิธีไหนก้ได้ ที่จะให้เขาดับ กำหนดลมหายใจให้เขาดับ ให้เขารับรู้ แต่ไม่ให้เขาเกิด ถ้าเราอยากจะรู้อะไร เหตุอะไรที่มันเกิดภายนอก เราก็เอาสติปัญญา พากายเข้าไปดู ใหม่ ๆ จะเป็นกันหมดทุกคน

เราต้องพยายามศึกษาให้ละเอียด ให้เข้าใจ ให้ถ่องแท้ การควบคุมจิตเป็นยังไง การบริหารจิตเป็นอย่างไร จิตของเราก็เหมือนกับเด็กน้อยนั่นแหละ ปล่อยให้เขาเล่น พอเกิดอุปสรรค เราก็ค่อยไปช่วยเหลือเขา ถ้าเขาจะส่งไปข้างนอก เราก็ต้องรู้จักดับเขา รู้จักแก้ไขเขา

จิตที่ไม่ได้ฝึกนี่มัน ก็จะไปตามเองตามราวของเขา หลงไป ขนาดหลง ๆ อยู่ ยังว่ามันไม่หลงนะ เขาว่า เฮ้ย……คำหยาบนี่ไม่มีสติเลย ก็ไปโกรธให้เขา มันก็ไม่มีสติจริง ๆ ดังเขาว่านั่นแหละ

เมื่อรู้ธรรม แล้วให้วางธรรม

สติในทางโลกนั้นใช่อยู่ แต่สติในทางธรรม ที่จะเข้าไปดูจิต เข้าไปชำระกิเลสที่จิตนั้น ตรงนี้ไม่มี นอกจากบุคคลที่มาฝึกจริง ๆ ถึงจะรู้ว่า เราไม่มีสติ มาฝึก มาดู มารู้ มาแยกได้จริง ๆ นั่นแหละ ถึงจะรู้ว่า เราไม่หลง ทั้ง ๆ ที่เราหลง ๆ อยู่ ก็ยังว่าไม่หลง เราไม่หลงอยู่ในระดับของสมมุติ เท่านั้นเอง ในระดับวิมุติ ตราบใดที่ยังแยกรูป แยกนามไม่ได้นี่หลง

ถึงจิตจะสงบอยู่ ก็เป็นเพียงขันที่คว่ำอยู่ ยังไม่ได้หงายขึ้นมา เป็นสมาธิเฉย ๆ สงบอยู่ เฉย ๆ ยังไม่ได้หงายขึ้นมา ถ้าหงายขึ้นมาแล้ว กำลังสติต้องตามค้นคว้า แล้วละออกให้หมดอีก แม้เป็นจิตก็ไม่ให้เกิด ถ้าจิตไม่เกิดแล้ว ดับความเกิดแล้ว ต้องวางอีก นั่นแหละ เขาเรียกว่า วางธรรม ถ้ารู้จิตแล้วยังไปผูก ไปขังจิต เหมือนกับไปเจอพระ แล้วก็จับพระไปขังเสีย

ปล่อยให้จิตของเราเป็นอิสระ อิสระจาการเกิด อิสระจากกิเลส อิสระจากความยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละเขาก็สะอาด เขาก็บริสุทธิ์ การเกิดเป็นทุกข์ เขาก็ไม่เกิด ถ้าเขารู้ความจริงแต่เวลานี้ ภายใน 5 นาที ไปกี่เรื่องแล้วก็ไม่รู้ เพียงแค่อารมณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้นมา ก็ไปยินดี ยินร้ายไปด้วยกัน เขาเรียกว่าไปเสียดาย อาลัยอาวรณ์ กับอารมณ์ เล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะฉะนั้น ให้เห็นทุกสิ่ง ทุกอย่างเป็นธรรมดา

ปฏิบัติให้เคร่งตามดูจิตในทุกอิริยาบท

สมัยก่อนฝึกใหม่ ๆ จิตพลิกจากสมมุติ ไปหาวิมุติใหม่ ๆ กำลังเร่งทำความเพียร นี่มองดูพวกท่าน ถ้ามานั่งอยู่ใกล้ ๆ นี่มันห่างไกลเป็นโยชน์ เพราะสภาวะจิตมันต่างกัน สมัยก่อน ทำความเข้าใจกับนิวรณ์ หนาว ๆ ก็ลุกอาบน้ำ

ถ้านิวรณ์เข้ามาลุกอาบน้ำ เดินถูพื้นศาลา จนเป็นมันวับเลย ตอนกลางคืนนี่ เอาการเอางาน เป็นการปฏิบัติธรรม ถูพื้นศาลาด้วย ไล่นิวรณ์ด้วย เพิ่มความขยันหมั่นเพียร ทำงานไปด้วย กลางวันก็ทำงานไป ถ้านั่งนิวรณ์จะเข้าก็ลุก ตามดูจิตให้ได้ ทุกอิริยาบท

ว่างแล้วจากทุกสิ่ง มุ่งเพียงสร้างประโยชน์ให้สังคม

ทุกวันนี้ มันไม่มีอะไรที่จะไปตามดู จิตมันก็ไม่เกิดมาร่วม 20 ปีแล้ว สติมันก็หยุดร่วม 15-16ปี ความคิดก็ไม่ผุดมาปรุงแต่ง ร่วม 20 ปีเหมือนกัน ก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็มีแต่จะทำงาน ทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ ทำงานเพื่อที่จะ ให้คนรุ่นหลัง ได้มาอยู่ดี มีความสุข ได้มาฝึกปฏิบัติ ก็เพื่อที่จะได้ไป ได้เร็ว ได้ไว ทุกวันนี้ อะไร ๆ ก็ทำไว้หมด ที่พัก ที่นั่ง ที่เดิน ห้องส้วม ห้องน้ำก็ทำไว้หมด ก็เหลือเพียงญาติโยม เท่านั้น

ให้เป็นผู้สอนตัวเอง อย่าเป็นผู้มีกิเลสหนา

เมื่อทำให้ขนาดนี้ ยังจะพากันเกียจคร้านอยู่ ก็ช่วยไม่ได้ เราต้องสอนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ให้คนโน้นเขาขนาบ ไปให้พระองค์โน้นขนาบ พระองค์นี้ขนาบ อย่างนั้น คงเป็นบุคคลที่กิเลสหนา บุคคลที่มีกิเลสเบาบาง ฟังนิดเดียว ไปแก้ไข ปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละ

ใครที่เข้ามาที่วัดนี้ ถึงจะแปลกแตกต่าง ไปจากที่อื่นอยู่ ตั้งแต่ปากทางเข้ามา แม้แต่ป้ายวัด ทางการเขาก็มาติดให้ เขาสงสาร เขาหาว่ายาก ก็เลยมาติดให้ พวกท่านถึงได้เห็นป้ายวัด ป้ายวัดก็เล็กนิดเดียว เข้าก็ก็ไม่มีเขียนข้อวัตร ปฏิบัติ ต่าง ๆ เอาไว้ให้ แล้วก็ไม่เห็นพากันไปนั่งเดิน ไปฝึกปฏิบัติ อะไรเลย


อุบายการปฏิบัติที่วัด จะไม่มีกฎทุกอย่าง ให้ใช้สติ สังเกตดู

สำหรับที่นี่ ทุกคนเข้ามาก็ให้รู้สึกว่า มาที่นี่เหมือนกับอยู่บ้าน ซึ่งแต่ก่อนยังไม่ได้มา ก็เยไปคิดว่า เอ… เราจะไปอยู่ยังไง เราจะไปกินยังไง ไปนั่งยังไง ไปฝึกยังไง มันหลอกเราเสียแล้ว พอมาเข้าจริง ๆ มารู้ความจริง เออ…มาที่นี่ก็สบายนะ ใคร ๆ ก็เหมือนกับพี่กับน้อง มีอะไรก็คอยช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ความวิตกกังวลก็คลายไป โดยไม่รู้ตัว มันคลายไปเปราะใหญ่ จิตใจก็เลยสบาย

คือว่า มันสบายแบบหลง ๆ หรือสบายแบบไม่มีสติ ก็ไม่รู้นะ ต้องมาสร้างกำลังสติ ไปกว่านี้อีก ถ้าจิตของเราสบายเป็นยังไง สงบเป็นยังไงนี่แหละ ถ้าเป็นบางที่ ถ้าเคร่งครัดมากเกินไป ก็คือคอยระวังระแวง แต่ที่นี่ไม่มีแบบนั้น ก็เลยไม่ได้กังวล ตรงจุดนั้น ความกังวลคลายไป จิตใจก็เลย ไม่มีความกังวล แต่พวกเราจะมีสติ คอยสังเกตรู้หรือเปล่า เท่านั้นเอง

ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนมีเหตุ และผล

ที่นี่ จะปล่อยให้ ปฏิบัติดูจิตของเรานี้ มีสติเข้าไปสังเกตดู เข้าไปวิเคราะห์ดู ทั้งที่จิตก็สบายอยู่ สบายแบบธรรมชาติ ทั้งกาย ทั้งจิต ตั้งสติไปด้วยกันหมด ขาดการจำแนก แจกแจง จิตสงบของเราเป็นยังไง ความสบายยาวนานหรือไม่ ที่พากันมา ก็มาเพื่อที่จะแสวงบุญ ทุกคนก็มีจิตเป็นบุญ เป็นกุศลกันหมด มีศรัทธาน้อมกาย เข้ามาเพื่อศึกษา และก็ได้ผู้บริหารที่ดี ที่ฝักใฝ่ในธรรม

อยากจะให้บริวาร ได้รับความสงบสุข ทั้งภายนอก ภายใน ภายนอกก็คือ ภาระหน้าที่การงาน สมมุติต่าง ๆ ที่พวกเราได้สร้างได้ทำกัน ภายในก็คือ ทางด้านจิตใจ ให้มีจิตใจที่สงบ ให้มีจิตใจที่เยือกเย็น ไม่ทำตามอารมณ์ ให้มีเหตุ มีผล เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง มีเหตุมีผลหมด


ว่าด้วยเรื่องการพิจารณากาย (ก้อนทุกข์ ก้อนกรรม)

ถ้าพวกเรารู้จักวิเคราะห์ รู้จักพิจารณา รู้จักทำความเข้าใจ อยู่ในกายของเรา ก็จะรู้ว่า ในกายของเรานี้ มีอะไรดีเยอะ ทั้งของดี ทั้งของไม่ดี รวมกันอยู่ที่นี่ ฉะนั้น กายของเรานี่แหละ ก้อนทุกข์ กายของเรานี่แหละ ก้อนกรรม แต่พวกเราขาดการพิจารณา มายึดมั่นถือมั่นว่า เป็นกายของเราจริง ๆ นั่นแหละ

แต่ในทางวิมุติ ในทางหลักธรรม แล้วก็เป็นเพียงแต่ สภาวะธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าขาดการจำแนกแจกแจง ขาดการแยกแยะจริง ๆ เราก็จะไม่รู้ความจริงตรงนี้ ถ้าเรามาวิเคราะห์ มาเจริญสติ มาหัดสังเกต มาหัดทำความเข้าใจ เราก็จะเข้าใจในชีวิตของเราว่า กายของเรานี้ ประกอบขึ้นมาด้วยอะไรบ้าง อันนั้นเป็นส่วนรูปธรรม แล้วส่วนนามธรรมนั้นเป็นลักษณะอย่างไร

ลักษณะของความว่าง เป็นลักษณะอย่างไร อาการของความคิด หรือสภาวธรรม อาการของขันธ์ห้า เป็นลักษณะอย่างไร ที่จิตของเราหลงความคิด หลงขันธ์ห้า ทำให้เกิดอัตตาตัวตน อันนี้เป็นความหลง เป็นโมหะ อันลุ่มลึกเลยทีเดียว พวกเราต้องพยายาม มาคลายตรงนี้ให้ได้ ก็จะเข้าใจในเรื่องอัตตา ในเรื่องอนัตตา ในเรื่องความทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นที่กาย หรือเกิดขึ้นที่จิต เราต้องรู้จัก หาวิธีแก้ไข

ทำบุญ แล้วรู้จักบุญ หรือยัง

คนเราเกิดมา ก็นับว่า มีอานิสงส์ มีบุญกุศล ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ บุญเก่าเราก็มี บุญใหม่เราก็พยายามมาเพิ่ม มาเสริม มาเติม มาแต่ง ให้เต็ม ดังที่พวกเราพากันมา นี่แหละมาสร้างบุญใหม่ ให้มี ให้เกิดขึ้น พากันสร้าง แต่จะพากันรู้จักบุญหรือเปล่า บุญก็คือ ความสบาย กายสบายใจ นี่คือบุญ

การเจริญสติ การเจริญสมาธิ การทำความเข้าใจ เราต้องรู้จักความหมาย สติที่เราสร้างขึ้นมานี้ เป็นลักษณะอย่างไร ความระลึกรู้ตัว รู้กาย และก็รู้จิต จะต้องหัดสร้างขึ้นมา ส่วนจิต ส่วนความคิด ส่วนอารมณ์นั้นก็เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ แล้ว ความคิดเขาก็เกิดอยู่ เขาก็มีอยู่ประจำ จิตของเราก็ส่งออก ไปภายนอกอยู่ประจำ

ทางความคิดก็ผุดขึ้นมา ปรุงแต่งจิตของเราอยู่ประจำ แต่เราขาดการเจริญสติ เข้าไปสังเกตก็เลยไม่รู้ตรงนี้ ถ้าเรามาสร้างสติ หยุดดู รู้อยู่บ่อย ๆ เราจะเห็นการเกิด การดับของจิต การเกิดการดับของขันธ์ห้า อยู่ตลอดเวลา นี่แหละความหลงอันลุ่มลึก ตรงนี้คนขาดการวิเคราะห์ ขาดการพิจารณา

ส่วนมากก็ทำบุญกันอยู่ ทำบุญถวายทาน ทั้งกำลังกาย กำลังใจ แล้วก็กำลังทรัพย์ มีโอกาสก็พากันขวนขวาย พากันฝักใฝ่ พากันสนใจ แต่เรื่องจิต ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม ไม่ค่อยสังเกตกันให้ต่อเนื่องเท่าไหร่ คิดเราก็รู้ว่าคิด ทำเราก็รู้วาทำ ทั้งที่จิตกับความคิด เขาก็รวมกันอยู่ นั่นแหละ เราหลงอยู่ หลงอยู่ในความรู้ตรงนั้น เราต้องมาสร้างผู้รู้ตัวใหม่ คือมาเจริญสติ มา สร้างสติ

พึงระลึกรู้อยู่ ทุกลมหายใจ

เช่น เราสังเกตเรื่องของการหายใจ เข้า ออก ของเราให้ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ไม่ลุกจากที่โน่นแหละ พอรู้ตัวปุ๊บ ตั้งสติให้มั่น สร้างความระลึกรู้ หรือสัมผัสลมหายใจเข้า ออก ของเรา ให้ต่อเนื่องกัน

ถ้าเราพลั้งเผลอ เราก็เริ่มต้นใหม่ เพียงแค่สร้างสติ กับรักษาสติ ให้ได้เสียก่อน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทไหน ส่วนความคิด ส่วนปัญญา แบบภพโลกของเรานั้น ทุกคนมีปัญญาเป็นอัจฉริยะกันหมด แต่ยังเป็นปัญญา ที่เข้าไปคลายทุกข์ ในจิตใจของเราไม่ได้ เป็นปัญญาระดับโลกีย์ ปัญญาระดับของสมมุติ

ตราบใดที่จิตของเรายังไม่คลายออก จากความคิด ออกจากอารมณ์ จิตของเรายังไม่พลิกจากสมมุติ ไปหาวิมุติ ก็ยังหลงอยู่ยังหลงอัตตาตัวตนอยู่ ทุกคนก็ว่า ตัวเองไม่หลง ตราบใดที่ไม่ได้มาเจริญสติ และไม่ได้สังเกต จนกว่าจะแยกแยะรูป นามได้ จนกว่าจิตของเราจะพลิกจากสมมุติ ไปหาวิมุติได้

นั่นแหละ ถึงจะรู้ว่า ตัวเองหลง อาจหลงในระดับของสมมุติ อาจจะหลงอยู่ในระดับของบุญ ของกุศล แต่ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง มันก็โผล่ขึ้นบันได ขึ้นได้แค่ สอง สามขั้น สี่ห้าขั้น แล้วก็ถอยลงมา ไม่ยอมก้าวไปถึงตัวเรื่อน คือยังไม่แยกรูป แยกนาม

พึงเจริญตบะบารมี อยู่ตลอดเวลา

เรื่องการปฏิบัติจิตนี่ ถ้าเรามีความท้อถอยนี่ เข้าไม่ถึง เราต้องเป็นคนที่ขยันหมั่นเพียร จริง ๆ ขยันหมั่นเพียรในการวิเคราะห์ ในการตั้งจิต ในการทำความเข้าใจอยู่บ่อย ๆ อยู่เนื่อง ๆ และรู้จักสร้างตบะบารมี

ความเสียสละของเรามีเต็มไหม ความอดทนอดกลั้น สัจจะของเรามีเต็มหรือเปล่า มีความจริงใจต่อตัวเองไหม มีพรหมวิหาร มีความเมตตา มองโลกในทางที่ดี อันนี้เป็นการเจริญตบะบารมีอยู่ตลอดเวลา ตื่นขึ้นมา เราก็รีบสำรวจตรวจตรา ดูตัวเรา สำรวมกายอินทรีย์ของตัวเราเสีย หู ตา จมูก ลิ้น กายของเรา ทำหน้าที่อย่างไร

เราต้องทำความเข้าใจ รู้จักแยกรูป รส กลิ่น เสียง ออกจากจิตของเราหรือไม่ ภาษาธรรมะที่ท่านเรียกว่า สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง เป็นยังไง อันนี้อาตมา เพียงแต่เล่าให้ฟัง ถ้าพวกท่านไม่ไปทำก็จะไม่เข้าใจ
อยากรู้ธรรม อยากเข้าถึงธรรม ก็ต้องทำเอา

การเจริญสติ ก็เพื่อที่จะเข้าไป สะสางกิเลสออกจากจิต จากใจของเรา การรักษษศีล การเจริญสติรักษาศีล สร้างสติ สร้างสมาธิ ก็เพื่อที่จะไปทำความเข้าใจ และก็ละความหลง คลายความหลง และก็ละกิเลสออกจากจิต จากใจของเราให้หมด

แม้แต่ความอยากเล็ก ๆ น้อย ๆ อยากจะรู้ธรรม อยากเข้าถึงธรรม เราก็ต้องทำ แต่การกระทำคือ การสังเกต การวิเคราะห์ สังเกตไม่ทัน เราก็ต้องใช้สมถะเข้าไปดับ เราอาจกำหนดอยู่กับลมหายใจบ้าง สร้างความรู้สึกอยู่ที่การหายใจเข้า ออกบ้าง

เรียกว่าสร้างความรู้สึก อยู่ที่การเคลื่อนไหว ของกายบ้าง แล้วแต่ความถนัด ของแต่ละบุคคล ที่จะเดินให้ถึง การฝึกหัดปฏิบัติจิต เราต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปวู่วาม คือค่อยเป็นค่อยไป ตั้งจิตไม่ทัน เราก็เริ่มใหม่ ทำความเข้าใจ เราก็เริ่มใหม่อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา

เราเป็นผู้ที่เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

บุคคลที่มีสติ มีปัญญา ถ้าหากฟังนิดเดียว ฟังไปแล้วน้อมระลึก รู้กาย ระลึกรู้ความปรกติของเราไปด้วยถึงจะได้เกิดประโยชน์ น้อมเข้าไปดูตรวจตรา ดูตัวเรา ทั้งภายนอก และภายใน ภาระหน้าที่ สมมุติต่าง ๆ เราทำไว้เรียบร้อย บริบูรณ์แล้วหรือยัง กับหมู่คณะ กับเพื่อนฝูง เรามีพรหมวิหาร เรามีความเมตตา

ทีนี้จิตของเราจะเกิดอารมณ์ หรือว่าเกิดความโลภ ความโกรธ ความอยาก เรารู้จักดับหรือไม่ สติที่เราสร้างขึ้นมา นี้เอาไปใช้กับภาระ หน้าที่การงาน ได้หรือไม่ นิวรณ์ต่าง ๆ นิวรณ์ธรรมต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องกั้นจิตของเรา เราทำความเข้าใจได้หรือไม่ เราเป็นบุคคลที่เตรียมพร้อมหรือไม่ เป็นคนที่ถึงพร้อม ทำความเข้าใจได้พร้อม เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นคนที่ตื่นอยู่ตลอดเลาหรือเปล่า

มาสะสมทรัพย์ภายในกันเถอะ

เราต้องเป็นผู้ที่สร้างทรัพย์ภายใน ให้มี ให้เกิดขึ้น อยู่ตลอดเวลา ทรัพย์ภายใน ถ้าเราไม่สร้างขึ้นมาก็ไม่มี เราต้องพยายามสร้างขึ้นมา สร้างความว่าง ความสงบ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ นั่นแหละ เขาเรียกว่า ทรัพย์ภายใน อริยสัจภายใน คือความว่าง ในความว่างนั้น มีดวงจิตอยู่

จิตที่ว่างจาการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่น ถือมั่น ว่างจากความคิด ว่างจากอารมณ์ เขาก็นิ่ง เขาก็สงบ เขารู้ว่า การเกิดเป็นทุกข์ เขาก็ไม่เกิด แต่เวลานี้ จิตของพวกเรายังเกิดอยู่ แต่ละวัน ๆ ไม่รู้เกิดกี่เที่ยว แค่ห้านาที สิบนาที ไม่รู้ไปสักกี่อย่าง เดี๋ยวก้เรื่องคนโน้น เดี๋ยวก็เรื่องคนนี้ เดี๋ยวก็เรื่องอดีต เดี๋ยวก็เรื่องอนาคต สารพัดเรื่อง

จิตปรุงแต่งรู้ให้ทัน แล้วจะละได้

นอกจากนี้แล้ว บางทีความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งจิต โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ นั่นแหละ อาการของขันธ์ห้าผุดขึ้นมา ปรุงแต่งจิต บางทีจิตของเรา ก็ไปรวมร่วมกับความคิด ที่เขาเรียกว่า ไปเสวยนั่นแหละ เรื่องดีก็เป็นสุขเวทนา เรื่องไม่ดีก็เป็นเรื่องทุกข์เวทนา เราขาดการจำแนก แจกแจง เรารู้อยู่เมื่อจิตกับความคิด เข้ารวมกัน

แล้วก็เลยว่า เรารู้เราเห็น แต่ขาดการแยกแยะทำความเข้าใจว่า อะไรเป็นอาการของขันธ์ห้า ที่เกิดเรื่องในบ้าน แล้วจิตของเราเข้าไปร่วมได้ยังไง มันก็ไม่มีอะไรยากหรอกโยม ถ้าพวกเรามีความตั้งใจจริง ๆ ก็มีแค่ เรื่องกายเรื่องจิต เรื่องรูป เรื่องนาม ก็วนเวียนอยู่ที่นี่

ทุกคนก็มีกิเลสกันหมด แต่มีมากมีน้อย อาจจะต่างกัน เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ ยิ่งสะสาง ยิ่งเจริญสติเข้าไปมาก เท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะเห็นมาก ยิ่งเห็นมากเท่าไร ก็ยิ่งทำความเข้าใจ รู้ความจริงแล้วค่อยละ ถ้าเรามีความคิด สติปัญญาเก่า ๆ ของเรา เราก็ต้องรู้จักตัด รู้จักกด รู้จักข่ม

แยกแยะแล้วยอมรับ ก็ปล่อยวางได้

พระพุทธองค์ท่านบอกเอาไว้ว่า สติปัญญาทางโลกนั้น อย่าเพิ่งเอามาโต้แย้ง จะดีมากขนาดไหน ก็อย่าเพิ่งเอามาโต้แย้ง เราดับ เราอด เราข่ม จนกว่าจิตของเราจะตกกระแสธรรม จนกว่าจะแยกรูป แยกนามได้ สัมมาทิฐิ ความรู้แจ้งเห็นจริง ถึงจะเปิดทางให้ วิปัสสนาก็เริ่มเกิด

กำลังสติก็จะตามดู การเกิดดับของขันธ์ห้า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงของความคิด ของอารมณ์ที่จิตเราเข้าไปปรุงแต่ง ทำให้เกิดอัตตาตัวตน ถ้าเราเห็นตรงนี้ กำลังสติของเราก็จะพุ่งแรง เป็นมหาสติ ตามดู ตามรู้ ตามทำความเข้าใจ ก็เห็นการเกิด การดับ เขาเรียกว่า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงของความคิด ของอารมณ์ตั้งอยู่ดับไป

ตามดูจนจิตของเรา ยอมรับความจริงว่า ไม่มีสารประโยชน์ แก่นสารอะไร นั่นแหละจิตของเราจึงจะวาง นี่แหละจุดวางก็อยู่ตรงนี้ ตราบใดที่ยังแยกรูป แยกนามไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มกำลังสติ ให้เป็นมหาสติ ถ้ายังแยกรูป แยกนามไม่ได้ ส่วนมากกำลังสติของเรา จะพลั้งเผลอ เพราะว่าความเคยชิน แบบเก่า ๆ ปัญญาที่เกิด ก็เกิดจากจิต เกิดจากขันธ์ห้า ที่ปรุงแต่งส่งออกไป

กิเลสจะดับ หรือพอกพูน ก็อยู่ที่เรา

อันนี้ เป็นเรื่องละเอียดมากทีเดียวคนที่ขยันหมั่นเพียรจริง ๆ ถึงจะเข้าใจ ถ้าคนเกียจคร้าน ก็จะไม่เข้าใจ ขยันหมั่นเพียร ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ขยันทำความเข้าใจ ขยันละกิเลส ความอยาก เล็ก ๆ น้อย ๆ

ไม่ใช่ว่า อยากเฉพาะในเรื่องอาหาร การอยู่การกิน อยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ความยินดี ยินร้าย ทั้งผลักไส ทั้งดึงเข้ามา ไม่อยากเอา ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ดับออกให้หมดเลยทีเดียว ทำความเข้าใจให้ถึงธรรมชาติที่แท้จริง ธรรมชาติของจิตที่ไม่มีกิเลส เขาก็สะอาดบริสุทธิ์ ธรรมชาติของโลกภายนอก เขาก็หลงอยู่กับโลกธรรม 8 อยู่อย่างนั้น

เราก็ยังอาศัยโลกอยู่ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับโลก โลกในที่นี้หมายถึง ความคิด หมายถึงอารมณ์ที่อยู่ในกายของเรา ซึ่งเรียกว่า รอบรู้ในโลก รอบรู้ในกองสังขาร ของตัวเอง รู้จักทำความเข้าใจแล้ว ค่อยละออกจากที่นั่น ที่นี่กิเลสก็จะเหือดแห้งไป ๆ การละการดับไม่มี มีแต่พอกพูนกิเลส มันก็มากขึ้น ๆ กำลังก็มากขึ้น

ความสุขที่แท้จริงคือความว่าง

คนเราเกิดมาก็เพื่อที่จะเดิน ให้ถึงจุดหมายปลายทาง แต่ไม่เดินให้ถึงจุดหมายปลายทางสักที มีแต่พากันมัวเมาเล่น เพลิดเพลิน อยู่กับรส กลิ่น เสียง สัมผัสต่าง ๆ เพลิดเพลินอยู่กับโลกสมมุติตรงนี้อยู่ ให้มองให้ลึก ค่าความสุขที่แท้จริง คือ ความว่าง ความสะอาด ความบริสุทธิ์ การไม่กลับมาเกิดอีก

เกิดทางกายเนื้อ พวกเราก็เกิดมาแล้ว แต่เกิดทางด้านจิตวิญญาณนี่แหละสำคัญ กายเนื้อแตกดับ วิญญาณของเราจะไปอย่างไร นี่แหละ เราต้องศึกษา เราดับความเกิดได้แล้วหรือยัง เราตัดภพ ตัดชาติ ได้แล้วหรือยัง ไม่ใช่ว่า จะไปปฏิบัติ เอาช่วงจะหมดลมหายใจ หรือปฏิบัติ เอาช่วงที่อายุมากแล้ว เราก็ต้องปฏิบัติ เราต้องฝึกไปเรื่อย ๆ ขณะที่เรายังมีกำลังใจอยู่ ตื่นนอน ตื่นขึ้นมาเราทำบุญให้กับตัวเรา แล้วหรือยัง เราละความเกียจคร้าน ออกจากจิตใจของเรา แล้วหรือยัง ละความเห็นผิดออกจากจิตใจของเราหรือยัง

ตอนนี้ จิตของเราเป็นกุศล หรือว่าอกุศล อันไหนควรจะเจริญ อันไหนควรละ ถ้าจิตของเราดี เราก็มองโลกในทางที่ดี คิดดี ทำดี ตลอดเวลา รู้จักสำรวมอินทรีย์ ของตัวเราเอง ทุกคนมีกิเลสเหมือนกันหมดนั่นแหละ แต่จะมีมากมีน้อย ก็ขึ้นอยู่กับอานิสงส์ ตบะบารมี ของแต่ละบุคคล

เกิดเป็นคนมีบุญทุกคน อยู่ที่ใครจะสานต่อบุญ ของตนในทางไหน

ทุกคนล้วนสร้างบุญมาดี ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเราก็มาสร้างสานต่อ ทำกายให้เป็นบุญ ทำวาจาให้เป็นบุญ ทำจิตให้เป็นบุญ รู้จักศึกษา รู้จักค้นคว้าสติ สมาธิ ปัญญาเป็นอย่างไร ลักษณะของศีลเป็นอย่างไร ความสงบกาย วาจา เป็นอย่างไร ความปกติเป็นอย่างไร ไม่ว่าจิต หรือศีล ก็อยู่ที่จิตของเรานี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก

กายของเราก็เป็นศีล จิตของเราก็เป็นศีล ทีนี้จะหนักแน่นหรือไม่ หวั่นไหวหรือไม่ จะหลงหรือไม่ อันนี้อาตมาจะพูด เฉพาะส่วนที่บุคคล ที่มีความขยันจริง ๆ ถึงจะเข้าใจตรงนี้ ส่วนมากก็ยังพากันเพลิดเลินอยู่ ก็ยังดี ที่ยังพากันฝักใฝ่ในครองบุญ ครองกุศล ในการสร้างอานิสงส์ สร้างบารมี สร้างบุญตลอดเวลา

การสร้างบารมี ต้องเสียสละอย่างแท้จริง

อีกอย่างหนึ่งนั้น ถ้าไม่ถึงวาระ ถึงเวลา ก็ยากที่จะตกถึงกระแสธรรม ถ้าอานิสงส์บุญ บารมีของเราไม่เต็ม เราก็ต้องสร้างบารมีของเราไปเรื่อย ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังดีกว่าไม่ทำ ถ้าคนไม่เคยสร้าง คนไม่เคยทำ ก็ยากที่จะระลึกนึกถึงได้ เราต้องพยายามสร้างอยู่บ่อย ๆ ทำอยู่บ่อย ๆ ให้ทานกับตัวเรา ให้ทานกับคนอื่น ให้อภัยทาน อโหสิกรรมอยู่ตลอดเวลา มันก็ไม่มีเรื่องอะไรมากหรอก มีอยู่นิดเดียว

แต่พวกเราพลิกไม่ได้ พลิกจากสมมุติไปหาวิมุติไม่ได้ ถ้าพลิกได้ก็เหมือนกับ เส้นผมบังภูเขา ทำไมถึงพลิกไม่ได้ ก็เพราะว่าอานิสงส์ บารมีทางสมมุติของเรายังไม่พร้อม บางทีภาระหน้าที่ ก็มาปิดกั้นเอาไว้ บางทีครอบครัวก็มาปิดกั้นเอาไว้ ครอบครัวก็ยังไม่บริบูรณ์ ยังไม่สมบูรณ์ บางทีภาระหน้าที่การงาน อันโน้นก็ยังติดขัด สารพัดเรื่องที่เขาจะมาปิดกั้นเอาไว้ บางทีกิเลสต่าง ๆ กายเนื้อก็ยังมาปิดกั้นดวงจิตของเราเอาไว้

ความคิดอารมณ์ก็ยังมาปิดกั้น ดวงจิตของเราเอาไว้ กิเลสต่าง ๆ ก็ยังมาปิดกั้นดวงจิตของเราเอาไว้ เราก็ต้องพยายามฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยความขยันหมั่นเพียร การที่จะขึ้นสู่ที่สูงได้ ก็ต้องเป็นคนที่ขยันหมั่นเพียร เป็นคนเสียสละ อย่างยิ่งยวด เสียสละจริง ๆ เสียสละหมด เสียสละทั้งภายนอกภายใน

ทำกายให้เป็นวัด ทำจิตให้เป็นพระ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกันหมด

ทีนี้ ถ้าจะเป็น ก็เป็นเรื่องปัญญา ให้ทำความเข้าใจ ที่เรามาวัด อย่างนี้ เราก็ได้อยู่ ที่ว่าได้นั้น ได้มาจากการทำจิตของเราให้สงบ ถ้าเราไม่ปล่อยวางภาระหน้าที่ การงานก็คงจะมาไม่ได้ ถ้าไม่มีการเสียสละเวลา เราก็คงจะมาไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งนั้น ก็ได้ผู้บริหารที่ดี อยากให้บริวารได้รับความสงบสุข อยากจะให้มาทำความเข้าใจ กับจิตของเรา

อันนี้อาตมาก็ขอขอบคุณ ผู้บริหารทุกคน ทุกท่านด้วย ผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย ทั้งที่ท่านก็พากันมาช่วยอุปการะ วัดนี้ก็เยอะอยู่ ก็ขอขอบคุณทุก ๆ คน มีโอกาสก็ขอเชิญมาที่นี่ ก็เหมือนกับมาบ้านของเรา ทำกายให้เป็นบ้าน ทำกายให้เป็นวัด ทำจิตให้เป็นพระ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกันหมด

รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั่นแหละอาจารย์ผู้สอนธรรมะ


ถ้าเรามีสติคอยตรวจสอบจิตของเรา เราก็จะได้ธรรมะอยู่ตลอดเวลา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็จะเป็นอาจารย์สอนธรรมะให้เรา ในส่วนลึก ๆ เราก็ต้องสังเกตดู การเกิด ดับของจิต ของขันธ์ห้า ที่มาปรุงแต่งจิต ตัวนี้แหละ

ขันธมาร ที่ทำให้จิตของเรา หลงอยู่ในการเวียน ว่าย ตาย เกิด ในวัฏสงสาร และก็โดยจิตของเรา ก็ยังหลอกจิตของเราอีก ยังปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา ยังวิ่งอยู่ตลอดเวลา เราพยายามมาดับ มากด มาข่ม มาคลายออกจากจิต ออกจากความยึดมั่น ถือมั่นตรงนี้ให้ได้

การปฏิบัติไม่ใช่อยู่ที่สถานที่ แต่อยู่ที่เรา

ถ้าเราอยากจะเห็นตรงนี้จริง ๆ เราลองอดพูด และก็อดคิด สักวัน สองวันดูสิ จิตของเรามันจะดิ้นถึงขนาดไหน อดทุกสิ่ง ทุกอย่าง อดทั้งอาหาร การอยู่การกิน จิตของเราจะเกิดความอยากไหม กายหิว จิตปรุงแต่ง ได้เร็ว ได้ไวไหม เราต้องทำความเข้าใจ ให้หมด ให้รอบรู้ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ไม่ใช่ว่า จะไปเที่ยวที่โน่น ปฏิบัติธรรมที่นี่ ถึงจะรู้ธรรม ถ้าเรารู้จักฝึกดู เรารู้ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นมา ทำความเข้าใจกับทวารของเรา ทวารทั้ง 7 ตามีหน้าที่ดูก็ให้เขาดู เราก็ดูจิตของเราว่า เกิดความยินดีไหม ยินร้ายไหม ผลักไสไหม ดึงเข้ามาไหม

ถ้าเราจะหลบหลีก ก็ต้องหลบหลีก ด้วยสติปัญญา จิตของเราจะเกิดความโลภ เกิดความโกรธ เรารู้จักดับ รู้จักระงับไหม ถ้ามันเกิดแล้วทำไมเราถึงรู้ว่ามันเกิด เวลาดับ มันกำลังเริ่มก่อตัว เราดับได้หรือไม่ เหตุการณ์จากภายนอก มาทำให้เกิดแล้ว เรารู้จักดับ หรือรู้จัก ควบคุมไหม หรือเกิดจากข้างใน ของเราโดยตรง

ทุกอย่างไม่เหลือวิสัย หากใคร่จะปฏิบัติจริง

การปฏิบัติทุกอย่าง มันก็ไม่เหลือวิสัยหรอก ถ้าเราจะแก้ไข ปรับปรุงตัวเรา อยู่ตลอดเวลา เราหาสิ่งที่ดี ๆ เราคลายความคิด คลายทิฐิ คลายมานะของเก่าออก ถ้าเรามีสติปัญญาเต็มร้อย เราก็ต้องคลายออกทั้งร้อย นั่นแหละ ให้เหลือศูนย์ แต่เราไม่ได้ทิ้งหรอก เราคลายของเก่าออก เอาสติปัญญาของเรา ไปทำหน้าที่แทน จิตของเรา เหนื่อยมานานแล้ว เขาเกิดมาไม่รู้กี่ภพ กี่กัป กี่กัลป์ เดี๋ยวก็เกิดเป็นโน่นบ้าง เป็นนี่บ้าง

เราได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ นี่ดีมากแล้ว เพราะกว่าจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ นี่ก็ยากแสนยากนะ ลำบากมากแล้วว่า จะเติบโตขึ้นมา กว่าจะได้รับการศึกษาเล่าเรียน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านวิบากกรรรมต่าง ๆ มา จนได้ทำการทำงาน มีความรับผิดชอบ ปกติก็มีครอบครัว มีลูกมีหลาน ก็หาโอกาสยาก ที่จะชำระสะสางกิเลสออกจากจิตของเรา

วัดเปรียบดังแผนที่ ที่จะพาสู่จุดมุ่งหมายปลายทาง

พวกเรามีโอกาสโชคดี ก็อย่าปล่อยโอกาสทิ้ง หมั่นสำรวจ ตรวจตราดู ตลอดเวลา สร้างผู้บริหารใหม่ให้เข้มแข็ง คือมาเจริญสตินั่นแหละ ให้เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา อันไหนเป็นจิต ลักษณะของจิต การก่อตัวของจิต การก่อตัวของขันธ์ 5 เป็นอย่างไร จิตของเรา อารมณ์ของเรานั่นแหละสำคัญ พิจารณาให้ดี

การที่มาวัด เราก็มา สร้างประสบการณ์ หรือ มาหาแผนที่ หาแนวทาง นั่นแหละ พวกเราจะเดินตามหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ ตัวของคุณเอง พยายามเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง มันก็ไม่มีอะไรมาก

เราเตรียมพร้อม ที่จะแตกดับอยู่ทุกขณะจิต (แล้วท่านเล่า)

สำหรับอาตมา ก็เดินอยู่ตลอดเวลา ฝึกอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ฝึก มันก็เป็นอัตโนมัติของมัน เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา เตรียมพร้อม ตั้งแต่ยังไม่ได้บวช เตรียมพร้อมที่จะอยู่ เตรียมพร้อมที่จะไป กายแตกดับเมื่อไหร่ ก็เตรียมพร้อมตลอดเวลา

พวกเราพวกท่าน พากันเตรียมพร้อม กันหรือยัง รู้จักช่องทางเดินให้จิตหรือยัง หาเครื่องดู ให้จิตของเราแล้วหรือยัง สร้างวิหารธรรมให้จิตหรือยัง ชำระสะสางกิเลสออกจากจิตของเราได้หมดแล้วหรือยัง ต้องเป็นคนที่เตรียมพร้อม อาตมาเตรียมพร้อมหมด ทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งภาระหน้าที่สมมุติ ก็เตรียมพร้อม และก็พร้อมให้กับญาติโยมด้วย ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ก็เพื่อให้ญาติโยม ได้มาฝึกหัดปฏิบัติให้ถึงจุดหมายปลายทาง

แต่ของอาตมานั้น เตรียมพร้อมตลอดเวลา แม้แต่ร่างกายของอาตมา ถ้าแตกดับเมื่อไหร่ ก็คงไม่ให้ใคร ยากลำบากเท่าไหร่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็เตรียมพร้อม แม้แต่โลงศพ ก็ยังเตรียมเอาไว้ แท่นเผา ก็เตรียมเอาไว้ แม้แต่ที่เก็บกระดูก เก็บเถ้าถ่านต่าง ๆ อาตมาก็เตรียมไว้หมด แม้แต่ฟืนเผาก็เตรียมพร้อม ถ้าถึงวาระเวลา ก็เพียงแต่ จับมารวมกันแล้วเผา เท่านั้นเอง คงจะยกแต่ร่างขึ้นเผา

บุคคลที่ประมาท ก็เหมือนดั่งคนที่ตายไปแล้ว

ดังนั้น จิตของเรา ก็ต้องเป็นบุคคลที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา อย่าพากันประมาท บุคคลที่ประมาท เหมือนบุคคลที่ตายแล้ว ตายทั้งเป็น เรามีหน้าที่อย่างไร ทางสมมุติ เราก็ทำให้ดีที่สุด และไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ มีได้ เป็นได้ ทำได้ด้วยสติปัญญา

ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีผลหมด ไม่ว่าทางสมมุติ ก็มีเหตุมีผล ทางหลักธรรมก็มีเหตุมีผล ท่านถึงว่า อริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ การเกิดดับของจิต จิตส่งออกไปข้างนอกนั่นแหละสมุทัย จิตหลงความคิด หลงอารมณ์นั่นแหละคือโมหะ ถ้าเราคลายได้ เราพลิกได้ และระลึกได้นั่นแหละวิปัสสนา โมหะก็หายไป สัมมาทิฐิ ความรู้แจ้งเห็นจริงก็ปรากฏ พวกเราพากันสร้างหรือยัง เจริญแล้วหรือยัง

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา พอตื่นขึ้นมา ยังไม่ลุกจากที่ปุ๊บ สติรีบสำรวจตรวจตราดูตัวเรา ว่าจิตปรกติไหม กายปรกติไหม สติปัญญาเป็นตัวสั่ง กายไปไหนมาไหน จิตของเราตั้งมั่น รับรู้อยู่ภายใน จิตของเราเป็นธาตุรู้ เวลานี้ก็ยังเป็นธาตุหลงอยู่ หลงยึดถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ หลงในอัตตาตัวตน

ก่อนจะแสวงหาธรรม ต้องทำที่ตัวเองก่อน

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องอัตตา เรื่องอนัตตา เรื่องความทุกข์ ถ้าเรารู้สาเหตุแห่งทุกข์ เราดับทุกข์ได้ เราคลายทุกข์ได้ ความสุขเราไม่ต้องการ ก็จะเกิดขึ้นมาเอง เวลานี้ จิตของเรายังหลงอยู่ต้องพากันขยันหมั่นเพียร อย่าไปปิดกั้นตนเองว่า ไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา ทุกคนมีโอกาส

มีเวลา เพราะว่ายังมีลมหายใจอยู่ ยังมีกำลังอยู่ อย่าไปเลือกกาล เลือกเวลาโน้น จะปฏิบัติเวลานี้ จะปฏิบัติ เราปฏิบัติได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่า ไปนุ่งขาว ห่มขาว ไปอยู่วัด ถึงเป็นการปฏิบัติ เราก็อยู่บ้านนั่นแหละ ดูกายวาจาของเราเป็นอย่างไร เราอยู่กับบ้าน อยู่กับครอบครัว เราเคยโกรธ ความโกรธของเราลดแล้วหรือยัง

เราเคยเกิดความทะเยอ ทะยานอยาก เราละได้หรือยัง ทีนี้เราเพิ่มความขยันหมั่นเพียร เพิ่มความรับผิดชอบ ด้วยสติปัญญาให้มากขึ้น ๆ รู้จักหน้าที่ รู้จักแก้ไข จากน้อย ๆ ไปหามาก ๆ ตรงไหนมันรั่ว ตรงไหนมันไม่ดี ก็รีบแก้ไขเสีย

เราจะไปแสวงหา ตั้งแต่ธรรม แต่เราไม่รู้จักแก้ไข ปรับปรุงตัวเรา มันจะไปถึงธรรมได้อย่างไร ทั้งภายนอก ทั้งภายใน เราก็ต้องทำให้บริบูรณ์ สภาพกายสมมุติของเรา ก็อยู่ดีมีความสุข ไม่เดือดร้อน ทางด้านภายใน ทางด้านจิตของเรา ยังหลงอะไรอยู่ เราต้องพยายามขัด พยายามแก้ อยู่ตลอดเวลา

บุคคลที่มีสติ มีปัญญาฟังนิดเดียวไปเดินลอยอยู่ฝั่งโน้นซะแล้ว ไม่ต้องให้ใครคนอื่น เขาเคี่ยวเข็ญ ขนาบแล้ว ขนาบอีก ถ้าคนมีสติปัญญามีกิเลสที่เบาบาง สร้างตบะบารมีมาดีว่า อะไรเป็นอะไร ก็จะถึงจุดหมาย ปลายทางได้เร็วได้ไว

ผู้มีปัญญา สั่งสมบารมีมา ฟังเพียงน้อยนิด ก็ถึงจุดหมายปลายทาง

สมัยก่อน พระพุทธองค์ ทานไปบอก ไปประกาศธรรม แสดงธรรม เพียงแค่ท่านพูด เล็ก ๆ น้อย ๆ คำสองคำ ผู้ฟังก็บรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็มี เพราะว่าคนสมัยก่อนนั้นฝักใฝ่ในบุญในกุศลกัน แล้วก็สนใจในเรื่องของการปฏิบัติ สมาธิ สมถะมีเป็นพื้นฐาน เพียงแค่ พระองค์ท่านไปชี้แนะว่า

การเกิดดับของจิต การเกิดดับของขันธ์ห้า การแยกรูป แยกนาม ไปดูแค่นั้น จิตก็ปิดซะแล้ว สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็เยอะแยะ แต่พวกเรา ทั้งครูบาอาจารย์ก็เยอะ หนังสือตำราก็เยอะ ทำไมยังไม่เข้าใจกันเลย อันนี้ก็แปลกนะ อาจจะเข้าใจอยู่ระดับหนึ่ง แต่ต้องพยายามให้เข้าใจ ในระดับที่สูงขึ้นไป ลักษณะของจิตที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร ลักษณะของสมาธิที่สงบ ๆ ด้วยการบังคับ ด้วยการข่ม

หรือว่าสงบด้วยปัญญาที่เกิดจากการแยกแยะจำแนกแจกแจง ไม่ให้จิตของเราหลง จิตของเราหลงอะไรในส่วนลึก ๆ เราจะพิจารณากายของเรา ให้รู้เห็น ตามสภาพความเป็นจริง อันนี้ก็เป็นแค่ทางด้านรูปธรรมส่วนนามธรรม ส่วนสภาวะธรรม ตัวจิตของเรานี้ ไปหลงขันธ์ห้า หลงความคิด หลงอารมณ์ ตรงนั้นแหละ เราต้องพยายามเข้าไป สังเกต เข้าไปแยกให้ได้ ถ้าเราสังเกตทันเมื่อไหร่ จิตที่เข้าไปรวมกัน ก็จะดีดตัวของเขาเอง เราก็จะเห็นการเกิดดับของจิต

ว่าด้วยเรื่องจิต (ไม่พินิจให้ดี มีแต่หลงกับหลง)

จิตที่พระพุทธองค์ ท่านเปรียบเอาไว้ เหมือนกับพยับแดด เวลาเราเดินไปตามถนน เวลาแดดร้อน ๆ ก็เหมือนกับ มีเปลวเพลิงลุกโชนอยู่ตามถนน เวลาเราเข้าใกล้ ๆ แล้วมันหายไป บางทีท่านก็เปรียบเอาไว้ เหมือนกับลูกคลื่น เวลาเราไปเที่ยวทะเล เราก็เห็นลูกคลื่น เป็นลูก ๆ วิ่งเข้ากระทบฝั่ง แล้วก็หายไป แล้วลูกใหม่ก็เข้ามากระทบฝั่งอีก

อาการของขันธ์ห้า อาการของความคิด หรือว่าขันธ์ห้าก็เหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตของเราไปรวม จนเป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนกับเชือกเส้นเดียวกัน เชือกเส้นเดียวกันนี้ มันมีเกลียวอยู่หลายเกลียว เข้าไปรวมกัน ก็เป็นเชือกเส้นเดียวกัน ถ้าเราจับออกมาทีละเกลียว ๆ ก็จะเห็นเป็นชิ้นของใครของมัน

นั่นแหละเรียกว่าขันธ์ของใครของมัน แล้วสติที่สร้างขึ้นมานี่ ก็ส่วนหนึ่ง ส่วนจิตของเราที่เกิด ๆ ดับ ๆ ก็ส่วนหนึ่ง ถ้ากำลังสติของเรามีเพียงพอสังเกตได้ก็จะเห็นความคิด จิตที่ออกจากความคิด ก็จะเห็นเป็นสามส่วน ถ้าสังเกตละเอียดลงไปอีก ในส่วนที่สาม ที่เข้ามาปรุงแต่งจิต มันเป็นเรื่องอะไร

บางทีก็เรื่องอดีต เรื่องอนาคต สารพัดเรื่องที่เข้ามาปรุงแต่งจิต ถ้าเป็นเรื่องอดีต ก็เป็นอาการของสัญญาความคิดต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นกลาง หรือไม่เป็นกลาง เขาเรียกว่ากองสังขาร นี่แหละไม่รอบรู้ในกองสังขาร ไม่รอบรู้ในอารมณ์ตรงนี้ ถ้าเรารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในความคิด รอบรู้ในอารมณ์ตรงนี้ กำลังสติของเรา ก็จะพุ่งแรงตามความเข้าใจ ก็จะเป็นมหาสติ อะไรเข้ามาแต่งจิตก็จะตามดูหมด ตามดูไม่ทัน ก็ใช้สมถะคอยกดข่มเอาไว้ จิตของคนเรานี่แปลก ถ้าไม่ดับ ไม่กด ไม่ข่มเขา ก็ไม่ยอมเหมือนกัน เขาก็วิ่ง เขาก็เกิดอยู่อย่างนั้น เกิดแล้ว เกิดเล่า ๆ หลงแล้ว หลงเล่า อยู่อย่างนั้น ความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งเมื่อไร เขาก็วิ่งเข้าไปรับ ด้วยกันหมด อ้าแขนรับเลย แทนที่จะใช้สติปัญญา เข้าไปวิเคราะห์ ไปพิจารณาหาเหตุผล ยังมีต่อ

กิเลสตัวไหนเกิดก่อน ก็กำจัดก่อน

ตรงนี้แหละ ถ้าแยก ได้กำลังสติ ก็ไปตามดู จะเห็นว่า หลงในรัก หลงความว่าง นั่นแหละ เขาเรียกว่า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นการเกิดดับ เห็นสภาวธรรม จิตรู้ความจริงตรงนี้ ว่าไม่มีสารประโยชน์แก่นสาร อะไร เขาก็จะไม่ยึด เขาก็จะปล่อยวาง ก่อนที่เขาจะวางได้ ไม่ใช่วางง่าย ๆ นะ

กำลังสติของเราต้องตามหาเหตุ หาผล จนจิตยอมรับความจริงได้ เขาถึงจะวาง ทีนี้จิตจะเกิดกิเลส ก็มาดับที่จิตอีก กิเลสความอยากเล็ก ๆ น้อย ๆ อยากมี อยากเป็น อยากไป อยากมา ความอยากเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นแหละคนมองข้าม จะไปเอาแต่กิเลสตัวใหญ่ ๆ ตัวไหนมันเกิดก่อน ก็เอาตัวนั้น ทำตัวนั้น

ความคิดมันเกิดขณะนี้ เราก็ดับตัวนี้ ความคิดอารมณ์ต่าง ๆ กิเลสต่าง ๆ จากละเอียดลึกลงไป เรามีความอิจฉาริษยา หรือไม่ เรามีความตระหนี่ถี่เหนียวหรือไม่ มองโลกในทางที่อคติ เป็นมลทินหรือไม่ เราต้องพยายามกำจัด สะสางออกไป

จงขยันหมั่นเพียร และฝ่าฟันอุปสรรค เพื่อจุดหมายปลายทาง

สำหรับการปฏิบัติ อยู่คนเดียว เราก็สนุก อยู่หลายคนเราก็สนุก ดูเราแก้ไข ปรับปรุงตัวเรา กายวิเวกเป็นอย่างไร จิตวิเวกเป็นอย่างไร จิตที่ไม่มีกิเลส มันมีความสุข กำลังจิตของเรามีไหม จิตของเราหวั่นไหวไหม จิตของเราผวาไหม เหตุการณ์จากข้างนอก เข้ามากระทบจิตของเรา เกิดหรือไม่ ตากระทบรูป จิตเกิดหรือไม่ หูกระทบเสียง จิตเกิดหรือไม่
บางทีก็เดินยิ้มอยู่คนเดียว มันก็จะเป็นบ้า ถ้าคนไม่รู้ บางทีก็เกิดปีติ เกิดสุขสารพัดอย่าง กิเลสมารต่าง ๆ ก็ไม่ยอมเหมือนกัน เขาก็หาวิธีที่จะเข้ามา ถึงจะเกิดขึ้นมา เราก็ต้องละ ต้องดับออก ให้มันหมด หลอกในปัจจุบันขณะ ที่เราตื่นไม่ได้ เขาก็ไปหลอกในนิมิต มันหลายสิ่งหลายอย่าง ที่มาหลอกเรา กว่าจะฝ่าฟันอุปสรรค ให้ถึงจุดหมายปลายทางได้ ก็ต้องขยันหมั่นเพียร

เมื่ออยู่ในสภาวธรรม แม้ทำงานเราก็มีความสุข (จิตผ่อนคลาย)

เราต้องสร้างตบะ สร้างบารมีให้เต็มเปี่ยม บารมี 10 ตบะบารมี 10 ศรัทธาของเราเต็มเปี่ยมไหม ปัญญาของเราเต็มเปี่ยมไหม สติของเราเต็มเปี่ยมไหม ความเสียสละของเราเต็มเปี่ยมไหม ศีลเป็นลักษณะอย่างไร สมาธิเป็นลักษณะอย่างไร ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง เป็นลักษณะอย่างไร เราต้องให้รู้ ให้เห็น ตามสภาพความเป็นจริงให้หมด

ไม่ใช่ไปนึก ไปคิด ไปอ่าน ไปฟัง อันนั้นเป็นปัญญาโลกีย์ เท่านั้นเอง ถึงแม้จะพิจารณา โดยที่ขาดการจำแนก แจกแจง แยกรูป แยกนาม แค่เป็นปัญญาโลกีย์ เราจะคิดพิจารณาอะไร ถ้าจิตเรา แยกรูป แยกนามได้ แล้วเป็นการเจริญสติปัฏฐานสี่ ตลอดเวลา จะพิจารณากายจิต ของเราก็ว่างรับรู้อยู่ พิจารณาจิต จิตเราก็ว่างรับรู้อยู่ พิจารณาธรรม จิตเราก็ว่างรับรู้อยู่ พิจารณาเวทนา จิตเราก็ว่างรับรู้อยู่

เพราะว่าจิตของเราคลายซะแล้ว จิตของเราตกกระแสธรรมซะแล้ว เราดับความเกิดซะแล้ว ต้องพยายามเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง อย่าพากันมัวเล่น เถลไถล ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราก็เอาการเอางานของเรา เป็นการฝึกหัดปฏิบัติธรรม ทำงานไปด้วย จิตก็ได้พักผ่อนไปด้วย ถ้าเราขยันหมั่นเพียร ตรงไหนไม่ดี เราก็รีบแก้ไขเสีย แก้ไขให้ดี แก้ไขไม่ได้ ก็อุเบกขาเสีย ตามความเป็นจริง

จิตอุเบกขาตั้งแต่ แยกรูป แยกนาม ทำความเข้าใจ ก็ละซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม แต่ทีนี้ภายนอก เราทำหน้าที่ของเรา ตามสมมุติ ตามอัตภาพ ของเรา ทำให้ดี เพื่อที่จะหยั่งสมมุติของเราให้อยู่ดี มีความสุข เพื่อให้เกิดประโยชน์อยู่ตลอดเวลา

เมื่อเจตนาดี ถึงมีอุปสรรค ก็ฝ่าฟันไปได้

ทุกคนก็พยายามสร้าง ประสบการณ์ใหม่ อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้อาตมาจะเล่าให้ฟังอย่างนี้ได้ ก็รับจากทุกสิ่ง ทุกอย่าง ในตอนที่ไปอยู่ตามป่าตามเขา ตามถ้ำ เพื่อสร้าง ประสบการณ์ หาประสบการณ์ บางทีงูเหลือมตัวใหญ่ ๆ เข้ามาลูบข้าง ลูบเอว เข้ามารัดก็มี อยากจะกินก็กินไม่ได้ ว่าเขาก็ทำอะไรไม่ได้

เกิดเหตุการณ์หลายสิ่งหลายอย่าง ไปเจอะเจอวิญญาณต่าง ๆ พระพรหมต่าง ๆ ก็เยอะ ช่วงที่อาตมาไปมุกดาหาร ได้ไปสร้างวัดไว้ อยู่บนภูเขา อันนั้นก็วิญญาณของเทพ มานิมนต์ให้ไปช่วยสร้างวัดให้ ก็เลยรับนิมนต์ไปสร้างให้ บนยอดภูเขา จนสำเร็จลุล่วงไป น้ำไม่มี น้ำแห้งแล้งกันดาร ก็เจาะน้ำบาดาลขึ้น แล้วตั้งแต่ไปอยู่บนยอดภู เอาไม้ของชาวบ้าน ที่ถวายไปสร้างทำอะไรต่าง ๆ

หน่วยอนุรักษ์ต่าง ๆ หรือหน่วยฟื้นฟู หน่วยอะไรต่าง ๆ แบกปืน เอ็ม 16 ใส่รถขึ้นไป จะไปจับไปล้อม กองไม้เอาไว้ จะไปจับอย่างเดียว ก็จับไม่ได้ บอกเขาว่า ที่มาสร้างมาทำนี่ ก็เพื่อมาสร้างให้เป็นแหล่งบุญ แหล่งกุศล ประโยชน์ให้ชาวโลก อย่ามาขัดขวางตรงนี้ ให้ดูที่แรงบุญ แรงกุศล ให้ดูที่เจตนา เราไม่ได้มาทำลาย

ถึงเรามาสร้างมาอยู่ ก็เพื่อจะให้เกิดประโยชน์ ต่อส่วนรวม ยิ่งต้นไม้อะไรต่าง ๆ ยิ่งจะปลูกให้มากกว่านี้ มีแต่จะจับอย่างเดียว จะให้เข้าตารางอย่างเดียว บอกไม่เชื่อฟัง ก็เลยอธิบาย เปรียบเทียบให้เขาดูว่า ตำรวจที่อยู่ตามถนนหนทาง ตำรวจทางหลวง รถที่วิ่งไปวิ่งมานั้น โบกให้เขาจอด รถโบกให้เขาหยุด ผิด หรือไม่ผิด ก็ยัดข้อหาให้เขาผิด รถชนตายเกลื่อนถนนเลยนะ ก็บอกอย่างนั้น

พอพูดเท่านั้น ฟ้าก็ผ่าลงมา เขาก็เลยกระโดด ไปคนละทาง วางปืนกันหมดเลย ก็เลยถามเขาว่า จะเอายังไง เขาก็บอกว่า ให้หลวงพ่อสร้างไปเถอะ ให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จ ไม้ที่อุทยาน ก็เยอะ จะเอาขึ้นมาช่วย แล้วท่านก็เอาขึ้นไปช่วย ไปสร้างวัด ทุกวันนี้ น่าอยู่ น่าอาศัย น่ารื่นรมย์ ขึ้นไปบนยอดเขานี้ มองเห็นธรรมชาติหมด

เปลี่ยนดินแดนผีพนัน ให้หันหน้าเข้าหาธรรม

น้ำไม่มี ก็เจาะน้ำบาดาล ขนาดชาวบ้านอยู่แถวนั้น เขาเจาะตั้ง 7-8 ที่ ก็ยังไม่เจอน้ำ ได้หน่วยเจาะ จากจังหวัดอุบลฯ มาช่วยเจาะให้ เขาก็เอาแผนที่มากางว่า มีแหล่งน้ำไหม เขาบอกว่า มาช่วยหลวงพ่อเฉย ๆ พอเขาขึ้นไปเจาะ ชาวบ้านก็ลงพนันขันต่อกัน ร้อยเอาสิบ พันเอาร้อย ว่าไม่เจอน้ำแน่

เพราะชาวบ้านทางโน้น เล่นการพนันกันเยอะ เป็นชาวบ้านที่เป็นผู้ก่อการร้ายเก่า เป็นคอมมิวนิสต์เก่า ฐานของตำรวจก็อยู่ที่นั่น ก็มี ฐานเฮลิคอปเตอร์ ฐานเครื่องบิน อยู่ที่หมู่บ้านเจ็ดนางดงหลวง เลยเขาวงขึ้นไปทางดงหลวง เลยแยกอนามัยเข้าไป ในหมู่บ้านลึกเหมือนกัน เหมือนกับเมือง ๆ หนึ่ง เป็นเมืองที่ปิดบังเอาไว้ น่าอยู่มากทีเดียว ภพภูมิก็ดีมากทีเดียว

แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะอยู่ได้ ใครไปอยู่ตรงนั้น บางทีตายก็มี บางทีอยู่ไม่ได้ก็มี ตอนอาตมาขึ้นไปนี่แหละ ที่วิญญาณต่าง ๆ ถึงได้มานิมนต์ ให้ไปช่วยสร้างวัดให้ ก็เลยรับปาก เลยได้ไปสร้างวัด จะเอาอะไรได้หมด จะเอาน้ำก็เอาเครื่องมาเจาะน้ำ ก่อนจะถึงวันเจาะ น้ำก็ลงมาอยู่วัดของเรานี่แหละ ก็ยังมาคิดว่า เราจะได้พระประธานองค์ไหน ไปตั้งเอาไว้ให้ญาติโยม ได้กราบไหว้ สักการบูชา

ก็เลยเอาพระปางห้ามญาติ เพราะคนแถวโน้น ไม่ค่อยจะถูกกัน คิดว่าจะเอาเงินสักสองหมื่นบาท ไปซื้อน้ำมันให้หน่วยเจาะ จะเอาเงินที่ไหน เพราะไม่มีสักบาท พอระลึกนึกถึงอยู่ในใจเท่านั้น ประมาณ 10 นาที ก็มีโยมคนหนึ่ง มาจากกรุงเทพฯ นั่งเครื่องบินมา แล้วก็ถือกระป๋องสังฆทาน พร้อมกับพระพุทธรูป ปางห้ามญาติ 2 องค์

โยมบอกว่า จะมาทำบุญกับหลวงพ่อ เอาพระปางห้ามญาติมาถวาย และมาคุยธรรมะกับหลวงพ่อด้วย ประมาณสักชั่วโมงหนึ่ง เขาก็ถามว่า หลวงพ่อมีอะไรจะสร้างไหม หนูจะถวายปัจจัยให้หลวงพ่อ สักห้าหมื่น ก้เลยบอกโยมไปว่า พอดีจะหาปัจจัย ไปซื้อน้ำมันไปช่วย หน่วยเจาะที่บนภูมุกดาหาร โยมจะถวายห้าหมื่น

หลวงพ่อก็เลยบอกว่า รับไม่ได้นะห้าหมื่น คงจะรับสองหมื่นก็พอ เพราะปรารถนาอยู่แค่สองหมื่น โยมก็งงเหมือนกัน จะถวายห้าหมื่น แต่อาตมารับไว้แค่สองหมื่น โยมก็ไปเบิกตังค์มาให้ แล้ว ก็ขึ้นไปหาหน่วยเจาะ หน่วยเจาะได้เจาะน้ำ ตั้งแต่เช้า ถึงบ่ายสามโมงเลย ฝุ่นนี้คลุ้งกระจายไปหมด อาตมาก็ไปยืนดูอยู่ คิดในใจว่า ถ้าไม่เจอน้ำ นี่ผิดหวังแน่ เพราะว่าจิตของคนแถวนั้น มีแต่การพนันขันต่อ มีแต่มิจฉาทิฐิ มีแต่ความเห็นผิด ทำยังไงหนอ ถึงจะทำให้จิต ของญาติโยม แถวนี้เป็นบุญกุศลได้

ถ้าไม่เจอน้ำ ก็ทำให้คนจิตเป็นบาปเยอะเลย อาตมาก็เลยอธิษฐานจิตว่า ….ด้วยจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ขนาดนี้ ขอให้ได้เจอน้ำเถอะ น้ำก็ผุดขึ้นมาเลย …เจาะได้ 73 เมตร น้ำก็ผุดขึ้นมา เจาะลึกลงไป 100 เมตร น้ำนี่ใสดื่มได้เลย สะอาดเย็น และก็ไม่เคยขาด ทุกวันนี้ก็ไม่มีขาด จ่ายได้ทั้งภูเลย ชาวบ้านเขาไม่ได้เรียกว่า น้ำบาดาลนะ เขาเรียก น้ำพิสดาร

พอได้น้ำเสร็จ อาตมาก็คิดว่า จะไปสร้างองค์ หลวงปู่ใหญ่ อยู่ที่บนภู จะขึ้นไปจำพรรษาที่นั่นด้วย ปีนั้นปรารถนาจะไปสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แต่ไม่มีเงินสักบาท แต่ว่าจะไปสร้าง และอยู่จำพรรษาที่นั่น ออกพรรษาก็คงจะมี งานกฐิน พอที่จะได้สร้างพระ ไปได้ไม่ถึงอาทิตย์ ก็เลยพูดกับพระแถวนั้นว่า ถ้ามีเงินสักสามหมื่นนี่ ทำแท่นพระข้างล่างเสร็จไหม ไม่ถึง 3 วัน มีคนเอาตังค์ 3 หมื่นมาถวายให้ ก็ได้ทำแท่นพระเสร็จ พอทำแท่นพระเสร็จ ก็คิดอีกนะว่า ถ้ามีตังค์สักแสนหนึ่ง ได้สร้างองค์หลวงปู่ใหญ่เสร็จแน่ ๆ ภายในหนึ่งอาทิตย์

ก็มีโยมเอาเงินไปถวายให้อีก ก็ได้สร้างพระ แล้วก็มีโยมเป็นด็อกเตอร์ อยู่ที่สวนสุนันทา ขึ้นไปปฏิบัติธรรมด้วย โยมก็ถวายเงินทำบุญกับอาตมา อาตมาอยากไปทำบุญที่ไหน โยมเขาจะถวายให้ อาตมาบอกว่า แพงนะ เพราะตอนนี้วัดกำลังจะสร้างเมรุเผาศพ อยู่ข้างล่าง ที่วัดร้างนั่นแหละ ยังขาดเงินอยู่ประมาณ 3 แสน

เขาก็ว่า เท่าไหร่ผมก็จะถวายให้ โยมก็เอาเงินมาถวาย 3 แสน แล้วก็นิมนต์อาตมา ลงมาข้างล่าง ก็เลยไม่ได้ขึ้นจำพรรษาที่นั่น ขึ้นไปวันที่ 11 ก็ลงมาวันที่ 11 เดือนหนึ่ง เต็ม ๆ พอขึ้นไปอีกเที่ยวหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็เลยมากราบบอกว่า หลวงพ่อ น้ำก็ได้ หลวงปู่ใหญ่ก็ได้ ยังขาดอยู่สิ่งหนึ่ง พวกผมขอหลวงพ่อหน่อย ก็เลยถามว่า โยมจะเอาอะไร

เขาก็ว่า พวกผมอยากจะได้ ไฟฟ้าขึ้นบนภู อาตมาก็ว่า เอ้า…..อยากจะได้ ก็ตกลง พอตกลงเท่านั้นแหละ เช้า ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไปขอไฟ ตกบ่าย ๆ อาตมาก็ให้รถลงมาข้างล่าง เพราะว่าไปอยู่ใน กลางป่า กลางเขา ลงมาประมาณสัก 50 กว่ากิโลฯ ลงมาที่ตีนเขาวง อาตมาก็เดินขึ้นไปนอนอยู่บนเขา กับลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง ข้างบนนี่ ทั้งลมหนาว ต้องก่อไฟผิงทั้งคืน พอตอนเช้าอาตมาก็เปิดโทรศัพท์เอาไว้ เสียงโทรศัพท์สายแรก ที่โทร ไปหาอาตมา หลังจากเปิดเอาไว้ ไม่ถึงครึ่งนาที เสียงในโทรศัพท์บอกว่า …. ผมมากราบหลวงพ่อ ผมไม่เจอหลวงพ่อ ผมจะขึ้นไปกราบที่มุกดาหารนะ

อาตมาก็ถามว่า โยมมาจากไหน เขาว่าผมอยู่ที่อุบลฯ ซึ่งเด็กคนนี้ สมัยเป็นนักเรียน เขาเคยมาอยู่กับอาตมา เคยมาฝึกปฏิบัติ พอเรียนจบแล้ว ก็กลับมาบวช แล้วก็ ไปทำงาน ไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ที่ไหน ตอนหลังก็ไปมีครอบครัว 11-12ปี ที่ไม่ได้เจอกัน

อาตมาก็ถามว่า ไปวัดถูกไหมล่ะ ไปถูกครับ มีบริวารเยอะแถวนั้น อาตมาก็ถามว่า บริวารอะไร เขาก็ว่า ผมเป็นหัวหน้าการไฟฟ้าอยู่เขตนั้น นี่ 12 ปีนะ ที่ไม่ได้เจอกัน แล้วเขาก็เลยขึ้นไปหาอาตมาที่ ภูบ้านไร่ แล้วก็เลยบอกให้เขา เอาไฟฟ้าขึ้นให้ ก็เลยเขียนเรื่องไปบอกหมู่ บอกคณะ แล้วก็ส่งหนังสือไปทางกรุงเทพฯ ก็ได้รับอนุมัติภายใน 2 เดือน ก็เดินสายไฟ ขึ้นไปบนยอดเขา 2 กิโลฯ กว่า ๆ ชาวบ้านก็พนันขันต่อ กันอีกเหมือนเดิมว่า ขอเป็นปี สองปี ก็ยังไม่ได้ แค่เดือนจะมาได้ยังไง พอเห็นเสาไปลง สายไปลงนั่นแหละ ถึงได้รู้กัน

ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศล

นี่แหละ อานุภาพแห่งบุญ อานุภาพแห่งกุศล และเทพเทวดา ก็คอยอนุโมทนา คอยช่วยเหลือตลอดเวลา หลายสิ่งหลายอย่าง ที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ยิ่งไปเที่ยวธุดงค์ ก็ยิ่งเห็นเยอะ วิญญาณที่ดีก็มี วิญญาณที่ประสงค์ร้ายก็มี แต่ก็สู้คุณงามความดีของเราไม่ได้ เราไม่มีอคติ ไม่โต้ตอบ มีแต่แผ่เมตตาให้ ก็มีแต่ความสุข ความเยือกเย็น วันแรก ๆ นี่เขาจะมาทดสอบเรา วันต่อไปก็มีแต่เครื่องหอมมาให้ มาถวาย ไปอยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน

อยู่ที่นี่ก็เหมือนกัน มาวันแรก เขาก็มาเล่นงานอาตมาเหมือนกัน อยู่ที่ป่าช้า สมัยก่อนยังไม่มีอะไร ทั้งเผา ทั้งฝังเต็มไปหมด ระเกะ ระกะไปหมด ทั้งป่ารก ป่าหนา อาตมาอยู่องค์เดียว อยู่ตามโคนไม้ ตามหลุมศพ มาวันแรก เขาก็เล่นงานอาตมา กระโดดมาจะฆ่าอาตมาอย่างเดียว อาตมาแผ่เมตตาให้ เขาก็ไม่เอา ตั้งแต่สองทุ่ม ถึงตีหนึ่ง ตีสอง ถึงได้หายไปเฉย ๆ

จิตเป็นธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก

สมัยก่อน จิตของวิญญาณต่าง ๆ ก็เป็นมิจฉาทิฐิ กว่าจะคลายลงไปได้ก็ลำบาก เราเหมือนกัน สมัยก่อนก็ไม่มีใคร ฝึกหัดปฏิบัติ มีอาตมาองค์เดียว ที่ออกมาอยู่ป่า อยู่เขา เพราะว่าอะไร เพราะจิตของอาตมามันว่าง ตั้งแต่เป็นฆราวาส ว่างมาตั้งแต่เป็นเด็ก 6-7 ขวบ ก็ว่างแล้ว ก่อนที่จะออกบวช ก็ปลงขันธ์ห้า ได้หมดแล้ว

แต่ไม่รู้ว่า จิตของตัวเองเป็นธรรม เพื่อที่จะมาแสวงหาธรรม พอบวชได้ประมาณ 17-18วัน จิตก็เลยดีดออกจากความคิด ออกจากอารมณ์ ร้องอ๋อขึ้นมา เราลองใช้ความคิดแค่นี้เอง ให้จิตเราว่าง พอปลงผมวันแรก สติก็สั่งเลย ให้เราหาเครื่องอยู่ให้เจอ ถ้าหาเครื่องอยู่ไม่เจอ การบวชเป็นพระก็จะลำบาก

ก็เร่งทำความเพียรตั้งแต่วันแรก ยิ่งเห็นแล้วก็ยิ่งเข้าใจ แล้วก็ยิ่งสร้างความเพียร หนัก ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ทำตามความเข้าใจ เดินปัญญา ละกิเลส ตรงนี้สำคัญ การดับการละของพวกเราไม่มี แล้วจะไปแสวงหาแต่ธรรมจะได้ยังไง การแยกรูป แยกนามของเราไม่มี จะเข้าใจเรื่องจิตได้ยังไง

สติก็ยังไม่รู้จักสร้าง มันจะไปได้ยังไง สร้างสติให้ต่อเนื่อง รักษาสติให้ต่อเนื่อง รู้จักดับ รู้จักละ รู้จักทำความเข้าใจ อยู่ตลอดเวลา แล้วเป็นคนขยันหมั่นเพียรจริง ๆ ถ้าคนเกียจคร้าน จ้างก็ไม่เข้าใจ ก็จะไม่รู้ ไม่เห็น อยู่คนเดียวก็หมั่นวิเคราะห์ แก้ไข ปรับปรุง ความทุกข์เกิดขึ้นที่กาย หรือเกิดขึ้นที่จิต มันเป็นอย่างไร เราต้องศึกษา ค้นคว้าให้ละเอียด นิวรณ์ธรรมต่าง ๆ เป็นอย่างไร ความว่าง ความสงบเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่ค้นคว้า แล้วใครจะทำให้เราล่ะ
ธรรมนั้นมีอยู่ประจำโลก จิตของเรานั้นคือองค์ธรรม

แม้แต่จับชายจีวรของพระพุทธองค์อยู่ ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่สนใจ เราจะไปเข้าใจได้อย่างไร ธรรมะนั้น มีอยู่ประจำโลก พระพุทธองค์ ท่านเป็นคนค้นพบ เราถึงยกไว้สู่ที่สูง เป็นบรมศาสดา ท่านเอามาจำแนกแจกแจง ธรรมะนั้นก็มีอยู่ประจำโลกกัน จิตของเรานั่นแหละคือองค์ธรรม

แต่เวลานี้ ก็ยังหลงอยู่ ยังหลงเกิด ยังหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่ ก็ต้องพยายามคลายออกให้มันหมด พวกกิเลสที่มาทีหลัง เพราะจิตเดิมแท้นั้น มันไม่มีกิเลสหรอก สะอาด บริสุทธิ์ ก่อนที่จะคลายกิเลสได้ บารมีของเราต้องเต็มเปี่ยม ความเสียสละของเราต้องเต็มเปี่ยม เอาออกให้หมด อย่าไปกลัวอด กลัวลำบาก

ยิ่งเอาออกเท่าไหร่ ก็ยิ่งเยอะ คลายออกให้มันหมด ก็จะรู้ความเป็นจริง แต่พวกเราไม่ยอมคลาย อาจจะคลายอยู่เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่คลายหมด ต้องคลายออกให้มันหมด คลายความคิด คลายอารมณ์ คลายความยึดมั่น ถือมั่น คลายกิเลส สำรอกกิเลส ออกให้หมด ทีนี้ เราจะมี จะเป็น ก็เป็นเรื่องปัญญาล้วน ๆ ก็ไปทำหน้าที่แทน ทุกสิ่งทุกอย่าง

ปรารถนาให้ญาติโยมหมั่นปฏิบัติ

ญาติโยมท่านใด มีโอกาส อยากไปฝึกปฏิบัติ ก็ขอเชิญมาที่นี่ก็ได้ หรือจะไปที่มุกดาหารก็ได้ บนภูบ้านไร่ ที่นั่นบรรยากาศดีมากทีเดียว หรือจะไปที่เขาใหญ่ วัดถ้ำสันติธรรม อาตมาก็มีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง ที่นั่น ไปซื้อที่ ขยายที่เอาไว้ ให้ปลูกต้นไม้ครบ 4-5ไร่ ตรงหน้าถ้ำก็น่าอยู่ เหมือนกัน

มีโอกาสจะไป พังโคน ได้สร้างวัดเอาไว้ที่พังโคน เลยพังโคนไปทางวานรนิวาส ประมาณ 15 กิโลฯ พระฝรั่งท่านซื้อที่ถวาย เอาไว้ประาณ 300 กว่าไร่ ก็สร้างวัด สร้างอะไรอยู่ที่นั่น ซึ่งก็น่าปฏิบัติเหมือนกัน

เวลามีค่า อย่าปล่อยให้สูญเปล่า

ถ้าเราเข้าใจแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นวัด ทำกายให้เป็นวัด ทำจิตให้เป็นพระ ไปสร้างประสบการณ์ ไปหาประสบการณ์ อย่าปล่อยเวลาทิ้ง เสียดายเวลา ถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราจะเสียดายเวลามากทีเดียว จะไม่อยากปล่อยเวลาทิ้ง ทั้งภายนอก ภายใน

เราจะสร้างคุณประโยชน์ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ทั้งทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายนอก ฝากฝังไว้กับสมมุติ คนรุ่นหลังมา ก็จะได้มาสร้าง มาสานต่อ เหมือนกับพ่อ แม่ ฝากฝังทรัพย์ไว้ให้ลูก ต้องพยายามกันนะ

สรุปสุดท้าย ก็ขอย้ำเรื่องจิต (ให้ตามดูจิตทุกขณะ)[/b]

ปกติอาตมาไม่ค่อยอยากจะพูด พูดน้อย แต่เหตุการณ์สมมุติให้พูด ถึงได้พูด ไม่อยากจะพูดเลย ถ้าพูดตามความจริง อยากจะดูอยู่เฉย ๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

วันนี้ ก่อนที่จะรับประทานอาหาร จิตนิ่งหรือเปล่า หรือว่า จิตเกิดความอยาก กายหิว จิตเกิดความอยากไหม จิตถึงบ้าน วันละกี่เที่ยว เราปรับปรุงแก้ไข ตัวเราเองได้แล้วหรือยัง เราเคยใช้อารมณ์กับแม่บ้าน กับหมู่ กับคณะ กับเพื่อนฝูง เรารู้จักสงบ รู้จักนิ่ง มีเหตุผลหรือไม่ เราก็ต้องพยายามวิเคราะห์แก้ไข ปรับปรุง ตัวเราเอง

วันนี้ อาตมาขอเจริญธรรม เพียงเท่านี้ ขอให้ญาติโยมทุกท่าน จงประสบแต่ความสุขความเจริญ

[b]จากใจลูกศิษย์ ถึงหลวงพ่อกล้วย


คุณชลัช มานะเลิศ อายุ 75 ปี (หลวงพ่อคือ ผู้มีเมตตาธรรม)

เพิ่งรู้จักหลวงพ่อได้ไม่นาน ลูกแนะนำ ศรัทธาในปฏิปทาของหลวงพ่อ ท่านเป็นคนตรง ๆ จริง ๆแล้วก็มีเมตตา ลูกป้ามาบวชก่อน แล้วลูกเขาก็ประทับใจในบรรยากาศ ที่นี่ว่าเป็นที่ที่สงบ แล้วป้าก็ตามมาปฏิบัติธรรมด้วย ตอนเช้าก็ได้ทำบุญด้วย ป้าเป็นแฟนหนังสือโลกทิพย์ด้วยนะคะ ตั้งแต่โลกทิพย์ออกมาใหม่ ๆ เลย หนังสือโลกทิพย์ทำให้ป้าได้รู้จักพระอริยะ สายที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งเราเองไม่สามารถ ที่จะไปค้นคว้า ได้อย่างนั้น แต่เราอาศัยจากหนังสือโลกทิพย์ ทำให้เราได้รู้จักพระอริยะต่าง ๆ

สำหรับหลวงพ่อท่าน เป็นพระที่ปฏิบัติจริง แล้วก็มีเมตตา ต่อคนที่มาปฏิบัติ แล้วสถานที่พักก็สะดวกดี เงียบสงบ ตอนเช้าได้ใส่บาตร และท่านก็แสดงธรรม ให้เราฟังก่อนที่จะฉันอาหาร ทำให้เราได้สงบจิต สงบใจ ช่วงขณะนั้น ซึ่งตรงกับใจป้าเลย

คุณพรรณงาม วัดสันตชาติ อายุ 59 ปี (กรุงเทพฯ)
หลวงพ่อคือพระผู้ไม่สะสมทรัพย์

ที่รู้จักหลวงพ่อ ก็เพราะลูก ๆ เขาแนะนำ แรก ๆ ที่เขาบอก ป้าก็ไม่ได้มา แต่พอป้าเพท ที่เขามาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อ กลับไปกรุงเทพฯ เขาก็มาเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่ออ่านสอนอย่างนี้ ๆ ป้าเห็นว่าดี ก็เลยมาสัมผัสดู ป้าเพิ่งมา 2 ครั้ง ป้าอยู่แถวลาดพร้าว ประทับใจท่านหลายอย่าง คิดว่า ท่านเป็นอริยะแล้ว ท่านปฏิบัติตัวแบบ ไม่เอาอะไรเลย ป้าคิดว่า พระแท้ ๆ ต้องไม่เอาอะไร ไม่สะสมอะไร คือไม่ต้องเอาอะไรเลย

แล้วก็ชอบบรรยากาศที่วัดด้วย ต้นไม้ร่มรื่น ครั้งที่แล้ว ป้ามาอยู่ประมาณ 17 วัน ครั้งนี้ คิดว่า จะอยู่เป็นเดือน เพราะเรายังปฏิบัติไม่ได้ ธรรมะไม่ใช่ของง่าย ต้องใช้เวลาที่จะศึกษา นี่ป้าก็กำลังศึกษาอยู่ และป้าก็ปฏิบัติได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่คิดว่า นี่คือแนวทางที่เราเข้าใจ แล้วก็จะปฏิบัติต่อ ส่วนลูก ๆ ของป้า เขาก็ทำงาน แต่พอวันหยุด เขาก็มาปฏิบัติธรรมกัน

หลวงพ่อท่านเป็นคนเมตตา และสบาย ๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ แล้วท่านก็ไม่มีพวกเดรฉานวิชา พระเครื่อง พระบูชา ตู้บริจาคไม่มีเลย… คือคนเรา อยากทำบุญนี่ มันต้องทำด้วยจิตที่เป็นกุศลจริง ๆ ไม่ใช่จะต้องเอาตู้มาตั้งไว้ที่หน้าวัด อะไรอย่างนี้ แจกซองผ้าป่า หรือ บอกบุญอะไรใคร ชอบตรงที่ท่านไม่บอกบุญ แต่พอถึงเวลา ก็มีคนเอามาถวายท่าน คือเราเห็นความบริสุทธิ์ของท่าน ในความรู้สึกของป้า จิตของท่านบริสุทธิ์ถึงขั้น อริยะพอสมควร เท่าที่ป้าได้สัมผัสนะคะ เพราะป้าก็เรียนธรรมะมา รู้สึกว่าท่าน คงจะได้ตรงนี้ เพราะท่านไม่เอาอะไรเลย พอได้อะไรมาปุ๊บ ท่านก็จะนำเอามาสร้างอะไรให้เป็นประโยชน์ กับส่วนรวม

คุณสมบุญ นามวงศ์ (หลวงพ่อผู้มีแต่ให้)

รู้จักหลวงพ่อมานานแล้วค่ะ รู้จักตั้งแต่เป็นฆราวาส หลวงพ่อท่านมีพี่น้อง 5 คน แต่ตายไปคนหนึ่ง พี่มาอยู่ปฏิบัติกับท่าน 20 กว่าปี ได้ซาบซึ้งในธรรมของท่าน แล้วปฏิปทาท่านเป็นผู้เสียสละ มีแต่ให้ แล้วก็มีแต่ทำ

ทำอะไรก็ไม่เคยหวัง จะได้ จะเอาอะไรจากใคร แล้วก็ไม่เก็บสะสมอะไร ใครเอาของมาบริจาค มาถวาย ท่านก็ทำทานต่อ แรก ๆ ที่ท่านมาที่นี่ เป็นป่ารกมาก เพราะเป็นป่าช้า ท่านชอบความสะอาด ความเป็นระเบียบ มันถูกกับจริตของพี่

ทำไมท่านมีแต่ทำ ปกติพี่ก็เห็น ก็อยู่กับพระธุดงค์มาเยอะ ก็สังเกตว่า ท่านทำอะไร ทำไมท่านดูแปลกกว่าทุกองค์ที่ผ่านมา ในป่าช้านี้ ทำความสะอาด เก็บใบไม้กิ่งไม้ ใบหญ้ามันรกมาก แล้วก็มีแต่หลุมศพ เต็มไปหมด เรียงรายกันอยู่ ท่านก็ทำของท่านไป แล้วเวลาสอนธรรมะ ท่านก็สอนแต่ธรรมชาติ

หลวงพ่อท่านจะรักต้นไม้ ปลูกต้นไม้ แต่ที่นี่ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยโต เพราะมันแห้งแล้งกันดาร ปลูกกี่ชุด กี่ชุด ก็ไม่เหลือ หลัง ๆท่านก็ปลูกต้นไผ่ ทำแต่งาน พี่ไม่ค่อยเห็นท่านเดินจงกรมนะ แต่ก็มีแต่หลักธรรมมาสอน สอนธรรมะแบบธรมชาติมาตลอด ญาติโยมมาก็สอนคำเก่านี่แหละ หลายปี หลายชาติ ก็สอนแบบนี้

ท่านบอกว่าธรรมของท่านมันทำง่าย เพราะตัวท่านก็ทำมาแต่เด็ก ๆ ท่านให้ทาน ใครมาขออะไรท่านให้หมดถึงไม่ขอ ท่านก็ให้ แล้วก็ไม่เก็บสะสมอะไร ที่กุฏิท่าน ไม่มีอะไรเลย มีแต่ผ้าสบง จีวรที่จำเป้นต้องใช้ คือมันผิดกับองค์อื่น ที่พี่เคยเห็น หรือ เคยสัมผัสมา ท่านมีแต่เสียสละ แล้ประทับใจหลวงพ่อตรงที่ ท่านไม่ให้พูดเรื่องคนอื่น ให้ดูตัวเอง ให้พิจารณาดูตัวเอง จะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าตาเห็นรูปข้างนอก อย่าไปอคติ อย่าไปเพ่งโทษ ให้ดูตัวเองว่า จิตไปเพ่งโทษเขาไหม จิตมันมีอคติไหม จิตมันมีรอยมลทินไหม ประทับใจที่สุดคำนี้ เพราะดู ๆ ไป มันก็จริงอย่างที่ท่านสอน เรายังติดขัดตรงไหน ท่านก็แก้ ท่านก็บอก ช่วงเช้า ท่านจะเทศน์ทุกเช้า ก่อนที่จะฉันข้าว จะอบรมธรรมะก่อน ให้ทำสมธิแบบธรรมชาติ ทำอะไรก็ตามธรรมชาติ ให้ธรรมชาติที่สุด เดินก็ให้เป็นธรรมชาติ

ให้รู้อริยาบถ รู้กาย รู้จิต แล้วก็ให้หันมาดู ความปกติของจิต ทำยังไงถึงจะปกติ สอนการให้อภัยทาน อโหสิกรรม เมตตา เพื่อนที่เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกัน ทุกคนเสมอภาคกันหมด มีธรรมชาติหมดทุกคน เพียงแต่เขา ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้ฝึกสติของเขา เท่านั้นเอง

ให้สงสารเมตตาเขา เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านให้ความเมตตา เหมือนกันหมด ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ถ้าเข้ามาในวัดนี้ ท่านให้ละอัตตาตัวตน ตรงนี้แหละ มันถูกกับจริตพี่ พี่อยู่วัดประจำทุกวัน เป็นโยมอุปัฏฐากท่าน

ในความทรงจำของศิษย์คนหนึ่ง อ.คำดี จุลโสม (พ่อครู)

วัดป่า หรือ สำนักสงฆ์ธรรมอุทยาน ตั้งอยู่ที่ป่าช้า ของหมู่บ้านสำราญ และบ้านเพี้ยฟาน ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เรื่องเดิมก่อน พ.ศ.2527 ข้าพเจ้าไม่ทราบชัด จึงไม่สามารถ จะนำมาเล่าได้ ทราบเพียงว่า ช่วง พ.ศ.2527 ที่ป้าช้าของหมู่บ้านนี้ มีพระธุดงค์ มาพักเป็นประจำ แต่ไม่ถาวร มาอยู่เพียงเวลาสั้น ๆ

ในปีแรกที่ข้าพเจ้าได้พบหลวงพ่อ สำราญ เป็นช่วงเวลาที่ท่านกลับจากจำพรรษาที่ วัดถ้ำแสงเพชร จังหวัดอำนาจเจริญ แล้วเดินธุดงค์ ไปทางภาคเหนือ ได้กลับมาเยี่ยมญาติ ในหมู่บ้านเพี้ยฟาน และได้มาพักในป่าช้าแห่งนี้ ตามนิสัยของพระธุดงค์ ในปี พ.ศ.2527 นั้น

ข้าพเจ้าเป็นประธาน กลุ่มโรงเรียน กลุ่มสำราญ โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านสำราญ จึงได้นำคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียน มาประชุมที่ศาลาพักศพ ในป่าช้านี้ และมีโอกาสได้พบท่านโดยบังเอิญ ต่อมาได้พยายามมาหาท่านบ่อย ๆ เมื่อได้รู้จักท่านดีแล้ว ก็เกิดศรัทธาในตัวท่าน

คืนแรก ที่ข้าพเจ้าได้มาพักค้างคืน ในป่าช้าแห่งนี้ ท่านบอกให้ข้าพเจ้า ไปอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ กลางป่าช้า ภายในกระท่อมมีแคร่ไม้ไผ่ คร่อมหลุมศพที่เขาก่อ อิฐก่อปูน มีรู และมีกลิ่นด้วย คงจะเป็นที่พักของทาน เพราะมีมุ้งกลดของท่านกางไว้ ท่านคงสละให้ข้าพเจ้าพัก ส่วนท่าน ไม่ทราบว่า ไปพักที่ไหน ในคืนนั้น หลังเที่ยงคืน จึงได้หลับนอน เพราะเจอประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต

ข้าพเจ้ามีความตั้งใจ อยากให้ที่นี่เป็นวัด จึงได้มาคลุกคลีกับท่าน เริ่มต้นบุกเบิกกับท่าน อยากให้ท่านอยู่เป็นหลัก ท่านเคยชักชวนให้ข้าพเจ้าบวชหลายครั้ง แต่ข้าพเจ้า ไม่รับคำชวนจากท่าน เพราะเกรงว่าท่าน จะมอบงานให้แล้ว ท่านจะหนีไป

สำหรับคำว่า ธรรมอุทยาน แปลเอาความว่า สวนธรรม หรือสวนแห่งพระธรรม ขณะนี้เห็นเด่นชัดตามชื่อ เพราะในสวนธรรมแห่งนี้ กำลังผลิดอกออกผล ให้เหล่าพุทธบริษัท ทั้งไกล และใกล้ ได้เก็บหมากผลอย่างเต็มอิ่ม (ยกเว้นประเภท มดแดงเฝ้ามะม่วง)

สำหรับปฏิปทาของหลวงพ่อ มีดังนี้

1 ท่านเป็นผู้ให้ ไม่เป็นผู้เอา คือท่านไม่มีความโลภ ความอยากได้ มีแต่การให้ การเสียสละ ไม่มีความต้องการ เอาเฉพาะสิ่งพอดี และจำเป็นกับชีวิตเท่านั้น ท่านถือคติที่ว่า ผู้ชอบเอาจะไม่ได้ ผู้ได้ คือผู้ไม่เอา ผู้ให้คือผู้ได้รับ

ที่ข้าพเจ้าซึ้งมากอีกประการหนึ่งคือ ได้มาเห็นภาพปริศนาธรรม ที่ท่านทำติดไว้ ขณะนี้ ยังมีให้เห็น อยู่ที่ฝาผนังศาลาอเนกประสงค์ มีคติเตือนใจว่า “คนแบกโลก” ดูภาพแล้ว มันถูกกับชีวิตจริง ๆ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้า ได้วางหน้าที่ทางโลกหลายอย่าง เหลือไว้เพียงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่อย่างเดียว ทำให้งานเบา สบายขึ้นเยอะ

2 ท่านสอนให้ห่วงตัวเองก่อน จึงช่วยคนอื่นทีหลัง ขณะได้ฟังท่านครั้งแรก คิดว่าท่านสอนให้เป็นคนเห็นแก่ตัว หรือใจแคบ แต่เมื่อนำมาคิดให้ละเอียดแล้ว เป็นความจริง คือคนที่แก้ปัญหาตัวเองได้แล้ว จึงช่วยแก้ปัญหาคนอื่นได้ ตรงกับคติธรรมที่ว่า ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ได้ดีกว่าการสอน การให้กระทำเองดีกว่า การให้พร จึงเห็นได้ชัดว่าท่านสอนโดยเน้นการปฏิบัติมากกว่า ให้ดูตัวเองตลอดเวลา ไม่ให้มองคนอื่น ใครชั่วดีช่างเขา ให้จิตของเราเย็นเป็นพอ ทำจิตของเราให้สะอาดดี แล้วจึงจะช่วยผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

ท่านสอนธรรมะโดยไม่มีพิธีรีตรอง ไม่มีธรรมาสน์ นั่งเทศน์ตามดิน ตามร่มไม้ที่ไหน ก็ได้ ไม่เลือกที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ไม่จำกัดเวลา และสถานที่ สอนแบบเป็นกันเอง เรียบง่าย ท่านถือว่า คนมีธรรมะคือคนไม่มีปัญหา

4 ท่านสอนให้เอาทั้งวิมุติ และสมมุติ ทำจิตใจให้หลุดพ้นจากสมมุติ แต่ไม่ให้ยึดติดสมมุติ คือส่วนกายยังเป็นสมมุติอยู่ ให้ปล่อยวางเฉพาะทางจิตใจ ส่วนกายไม่ให้วางมือ ให้ทำตามหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด ศาสนวัตถุก็ดี ศาสนพิธีก็ดี ท่านให้เอา แต่ท่านไม่ให้เน้นหนัก ที่เน้นมากคือศาสนธรรม เพราะพระธรรมสำคัญกับบุคคลมาก เมื่อบุคคลมีธรรมะ ทุกอย่างจะดีหมด ท่านจึงเน้น การฝึกจิต การพัฒนาจิตเป็นสำคัญ เพราะเป็นทางดับทุกข์ เป็นทางดับปัญหา และต้นเหตุของปัญหา จุดประสงค์ของท่าน ให้ดูแล ควบคุมจิต ดูอาการของจิตตลอดเวลา การควบคุมดูแลจิตอยู่ เป็นที่จะได้ผลกว่า ไปดูอยู่สถานที่อื่นทั่วไป ซึ่งตรงกับพุทธพจน์ ปัจฉิมโอวาท ที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสสั่ง เมื่อจะใกล้ปรินิพพานว่า ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คือไม่ให้เผลอสติ หรือขาดสติ

5 ท่านมีความเกรงใจ ไม่รบกวนใคร การขอเรี่ยไร ไม่มีเลย ไม่เคยเห็นท่าน ทำใบบอกบุญมาจากที่อื่น ท่านก็มิได้แจก ท่านจัดการใส่ซองเอง แล้วก็นำส่งเขา

6 อีกประการหนึ่ง ท่านไม่เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เรื่องสมณศักดิ์ การมียศ มีตำแหน่ง ท่านไม่ต้องการเลย แม้แต่ตำแหน่งเจ้าอาวาส ที่ทำหน้าที่อยู่ปัจจุบันนี้ ก็เป็นโดยบังเอิญ ไม่ได้เป็นเพราะความอยาก เพราะในเวลาเริ่มต้นสร้างวัด ท่านมิได้คิดจะสร้างวัด เพื่อจะได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านตั้งใจมาพักผ่อนในป่าช้า ตามอุปนิสัยของพระธุดงค์เท่านั้น

แต่บัดนี้ คำว่า “ธรรมอุทยาน” ที่ท่านให้ข้าพเจ้า เอามาถวายเป็นชื่อวัดในครั้งนั้น ก็ปรากฏชัดแล้ว สมเป็นสวนธรรมจริง ๆ กำลังผลิดอกออกผล ด้วยอำนาจบุญบารมีของท่าน ดังที่เห็นในปัจจุบัน ถ้าไม่มีท่าน คงจะไม่เห็นผลิตผล ในธรรมอุทยานแห่งนี้ และแห่งที่ 2 ที่ภูป่าไร่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหารด้วย ป่าช้าแห่งนี้ ก็คงจะเป็นป่าช้าธรรมดา จึงขอแสดงความภาคภูมิใจ ในปฏิปทา โดยสังเขปของหลวงพ่อ ณ โอกาสนี้


ขอสรุปอีกครั้งพอฟังง่าย
ตามบรรยายปฏิปทาของหลวงพ่อ
พยายามตามดูมาน่าเยินยอ
ไม่มีขอมีแต่ให้น้ำใจงาม
คำสอนเด่นเน้นตนเองให้ดีก่อน
ท่านพร่ำสอนฝึกเจ้าของอย่ามองข้าม
พูดถึงเรื่องคนอื่นท่านก็ปราม
เท่าที่ตามเฝ้าดูมาศรัทธาจริง
การเข้าหาเวลาใดได้ทุกที่
ท่านไม่มีการถือศักดิ์มักอวดหยิ่ง
เทศน์แก่นธรรมนำพา ว่าความจริง
ไม่ประวิงเวลาน่านิยม
ท่านเน้นมากเรื่องวิมุติหลุดให้ได้
ส่วนรูปกายสมมุตินามตามเหมาะสม
มือไม่วางว่างแต่ใจไร้อารมณ์
จึงกล่าวชมหลวงพ่อกล้วยท่านช่วยจริง
ไม่รบกวนไม่ขอใครเกรงใจมาก
ไม่ออกปากขออะไรใครทุกสิ่ง
การหาพระละความอยากหายากยิ่ง
เป็นความจริงมิได้โฆษณ์โปรดเข้าใจ
เรื่องตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์
มิได้ฝักใฝ่เอื้อเพื่อเป็นใหญ่
แม้ตำแหน่งเจ้าอาวาสไม่สนใจ
แล้วแต่ใครจะขันแข่งแย่งกันเอง
ถึงจะกล่าวเล่าเขียนไปไม่มีจบ
เท่าที่พบมากมีมิได้เล่า
ความดีท่านทุกส่วนล้วนน่าเอา
ถ้าพวกเราทำตามนี้จะดีเอง

ตัวอย่างคำสอน หลวงพ่อสำราญ ธัมมธุโร

ที่ควรใช้ โยนิโสมนสิการ (การพิจารณาโดยแยบคาย) และนำไปปฏิบัติ
-ให้กำหนดดูลมหายใจเข้า ออก กระทบปลายจมูก ทั้งผ่านเข้า และผ่านออก
-อย่าส่งจิตออกนอก ถ้ามันออกไป ให้รีบดึงกลับคืนมา
-ถ้าควบคุมจิตยากลำบาก ให้ใช้สมถะข่มไว้ (สร้างสติตามรูปแบบ)
-ให้ดูอาการของจิต (สิ่งที่เกิดกับจิต) ตลอดเวลา (ใช้ตาปัญญา)
-เมื่อมีความอยาก ความต้องการ อย่าเพิ่งเอาทันที ดูให้เห็นชัดก่อนจึงเอา (ดูจนกว่าจะหายอยาก)
-การเสียสละที่ดีกว่า คือการสลัดกิเลส (สิ่งเศร้าหมอง)ออกจากจิต
-ต้องเป็นผู้ให้ หรือเป็นผู้ไม่เอา จึงจะเป็นผู้ได้ ถ้าอยากเอาจะไม่ได้
-สมมุติ กับวิมุติต้องไปด้วยกัน คือกายทำตามหน้าที่สมมุติ แต่จิตใจไม่หลงยึดติดในสมมุติ ปล่อยวางทางใจ เพื่อให้จิตว่าง โดยมิได้วางมือ)
-ให้แยกรูป แยกนาม หรือแยกจิตออกจากขันธ์ห้า โดยไม่ให้ขันธ์ห้า มีอำนาจเหนือจิต (ไม่มีอุปาทานยึดมั่นในขันธ์ห้า)
-การปฏิบัติ ต้องปฏิบัติตลอดเวลา ไม่เลือกเวลาและสถานที่ โดยทำบ้านให้เป็นวัด ทำจิตใจให้เป็นพระ ทำอยู่ที่ไหน เมื่อไรก็ได้
-ผู้เห็นจิตจึงเห็นธรรม ผู้เห็นธรรม จึงเห็นพระพุทธเจ้า (เห็นด้วยปัญญา)
-ตำราและอาจารย์ตัวจริง คือตัวเรา ส่วนตำราและอาจารย์อื่น เป็นเพียงผู้บอก ผู้แนะ ถ้าหากตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง ไม่เห็นตัวเอง ก็ยังไม่รู้อะไรเลย
-สิ่งที่เห็น ที่ได้ยินเป็นต้น มิใช่เขามารบกวนเรา ที่จริงจิตของเราวิ่งออกไปรับมาเอง (แก้ปัญหาที่จิตเรา)
-การเดินต้องเห็นขา และเท้าตัวเองทุกก้าว โดยมิได้ก้มดู
-ขณะมาอยู่วัด ให้สังเกตดูจิต เขาไปเยี่ยมบ้านหรือเปล่า ถ้าเขาไปกี่ครั้ง พยายามควบคุมไว้ ไม่ให้เขาไป
-ไม่ควรสนใจงานอื่น หรือบุคคลอื่น ที่เป็นเหตุให้เสียเวลา ดูจิตของตน
-เวลาจะเข้าห้องน้ำ ให้ตรวจดูก่อน จึงเลือกเข้าห้องที่สกปรกที่สุด เพื่อจะได้มีงานทำเพิ่มขึ้น และอย่าลืมนึกขอบคุณ ผู้ที่สร้างงานไว้ให้เรา ได้มีงานทำ (เราเป็นคนไม่ตกงานเพราะเขา) ฯลฯ
จบบริบูรณ์

This page is powered by Blogger. Isn't yours?