วันศุกร์, พฤศจิกายน 17, 2549
http://larndham.net/index.php?showtopic=23090&st=44
ผมยังคงรักษาความเร็วในการวิ่งได้ตลอดระยะ ๑๖ กิโลเมตรแรก...แล้วอยู่ๆก็เกิดอาการกล้ามเนื้อล้าขึ้นมาทันที คนที่ตามมาข้างหลังค่อยๆแซงเราขึ้นไปเป็นกลุ่มใหญ่ จริงอยู่การวิ่งมาราธอนเป็นการวิ่งที่มีเป้าหมายเพื่อเวลาที่ดีที่สุดของตัวเอง แต่เมื่อมีคนกลุ่มใหญ่แซงหน้าขึ้นไป...มันบ่งบอกว่าสปีดในการวิ่งเราตกไปมาก ใจเริ่มเสียขึ้นมาทันที ไม่คิดว่าจะมาเกิดอาการแรงตกก่อนถึงครึ่งทาง แต่ The show must go on.... ดังนั้นนักวิ่งมีหน้าที่ประคองตัวเองวิ่งต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงเส้นชัย ดังนั้นในเมื่อความเร็วตกลง...เราก็ยังคงซอยฝีเท้าเหมือนเดิม อาจจะแผ่วลงไปบ้างก็ช่างมัน เร่งตอนนั้นไม่มีประโยชน์ จังหวะในการลงฝีเท้าสำคัญ บางช่วงจำเป็นต้องแผ่ว และกลับมาเร่งในช่วงที่จังหวะในการวิ่งและแรงกลับมาสู่สภาพเดิม เร่งตลอดจะไปไม่ถึงเส้นชัยเพราะอาจจะหมดแรงก่อน ระยะทางสำหรับการแข่งขันฟูลมาราธอนยาวถึง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร ดังนั้นระยะทางที่ผมวิ่งมาถึงตอนนี้ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เหลืออีกกว่า ๒๕ กิโลเมตรที่ต้องวิ่งต่อ ถ้าแรงตกยิ่งจำเป็นต้องประคองให้กำลังขาไม่ล้าจนเกินไป พอจะมีเรี่ยวแรงวิ่งต่อให้ครบระยะ ๔๒ กิโลเมตร Split time สำหรับความเร็วที่ใช้ในการวิ่ง ๑๐ กิโลเมตรที่สองแย่กว่า ๑๐ กิโลเมตรแรกกินไป ๑ ชั่วโมงกับเศษไม่ถึง ๕ นาที ในขณะที่ ๑๐ กิโลเมตรแรกใช้เวลาน้อยกว่า ๑ ชั่วโมง ผมเริ่มมีอาการปวดขามากขึ้นเรื่อยๆ อดทนวิ่งไปให้ถึงระยะครึ่งทางคือ ๒๑.๐๙๕ กิโลเมตร และตัดสินใจหยุดยืดกล้ามเนื้อเมื่อวิ่งมาถึงที่ระยะ ๒๒ กิโลเมตร เวลาที่เราเสียไปกับการยืดกล้ามเนื้อกลับมีผลดีต่อการวิ่งในระยะที่เหลือต่อไป เพราะว่าเรารู้สึกว่ากล้ามเนื้อที่ใช้งานมากว่า ๒ ชั่วโมงมีการผ่อนคลาย คลายอาการปวดเมื่อย ผมเริ่มกลับมาวิ่งต่ออีก แม้ว่าความเร็วคราวนี้จะตกลงมาเหลือราวๆ กิโลเมตรละ ๘ นาที จากเดิมที่รักษาความเร็วไว้ได้ไม่เกิน ๖ นาที/กิโลเมตร แต่ในเมื่อสภาพร่างกายเป็นแบบนี้ มันมีอาการเมื่อย ยิ่งฝืนยิ่งได้เรื่อง ประคองไปเรื่อยๆดีกว่า ในระหว่างวิ่งในหัวของผมนึกถึงแต่เวลา " ๔ ชั่วโมงกับ ๕๗ นาที" ตลอดเวลา ระหว่างที่วิ่งได้ยินเสียงกลองไทโกะที่เด็กๆเขาตีเป็นระยะๆ การได้ยินกลองไทโกะที่เด็กๆตีทำให้รู้สึกมีพลังมากขึ้น เป็นครั้งแรกที่เริ่มรู้สึกชอบจังหวะที่ไม้กระทบลงบนหนังกลองเป็นจังหวะเร้าใจ มีพลัง ปลุกปลอบใจให้ฮึกเหิมขึ้น มันเข้ากับจังหวะลงฝ่าเท้า ที่ผมไม่แน่ใจก็คือ ในการแข่งขันมาราธอนในเมืองไทย...เรามีการใช้เครื่องดนตรีไทยๆอย่างกลองยาว คอยตีเชียร์ให้กำลังใจนักวิ่งกันบ้างไหม? เพราะจนถึงตอนนั้นผมยังไม่เคยมีประสบการณ์การแข่งขันมาราธอนในไทย ความเร็วที่ตกลงไปก่อนหน้านั้น ปรากฏว่าร่างกายเริ่มปรับตัวได้ค่อยๆปรับสภาพความเร็วเพิ่มขึ้น จังหวะในการซอยเท้าเริ่มถึ่ขึ้น ความเร็วเพิ่มขึ้นโดยที่เวลาลดลงเหลือน้อยกว่า ๗ นาที/กิโลเมตร ผมวิ่งจากอาการปวดน่องและต้นขาจนอาการปวดหายไปเอง วิ่งไปมีแึต่จังหวะแกว่งแขวนไปมาที่ไม่เคยหยุด จากระยะสูงสุดตอนซ้อมที่เคยวิ่งได้ที่ ๒๕ กิโลเมตร....ผมกำลังผ่านระยะ ๒๕ กิโลเมตรโดยที่ยังมีแรงเหลือพอที่จะวิ่งต่อไปโดยที่ไม่จำเป็นต้องเดิน ผมบอกกับตัวเองว่าจะลองดูว่ากำลังขาจะวิ่งต่อไปถึงระยะ ๓๐ กิโลเมตรไหม? ระยะ ๒๗ กิโลเมตรผ่านไป ระยะ ๒๘ กิโลเมตรผ่านไป ระยะ ๒๙ กิโลเมตรผ่านไป พอผ่านระยะ ๓๐ กิโลเมตรผมตกใจที่ใช้เวลาน้อยกว่า ๓ ชั่วโมง ๒๐ นาทีเป็นเวลาที่ไม่เคยทำได้ระหว่างที่ซ้อม ผมจะลองดูว่ากำลังขาของผมจะวิ่งได้ไกลขนาดไหน ผมผ่านระยะ ๓๒ กิโลเมตรโดยที่กำลังขายังไม่มีทีท่้าจะตกลง ยังคงวิ่งต่อไปด้วยความเร็วเท่าเดิม ที่ระยะ ๓๕ กิโลเมตร ทางผู้จัดการแข่งขันเขามีไอศครีมแจกฟรีให้แก่นักวิ่ง บอกกับตัวเองว่าอย่างไรจะวิ่งไปให้ถึงระยะ ๓๕ กิโลเมตรให้ได้ พอวิ่งถึงระยะ ๓๕ กิโลเมตรจริง รับไอศครีัมเชอร์เบทมาทาน....ต้องยอมรับว่าตอนนั้นไม่เคยทานไอศครีมอร่อยแบบนี้มาก่อน ทานไอศครีมเสร็จ..ดูเหมือนมีพลังเพิ่มขึ้นอีกเยอะ ความจริงทุกๆระยะ ๓ กิโลเมตรเขามีจุดให้น้ำ น้ำเกลือแร่ ขนมปัง กล้วย ให้แก่นักวิ่งทุกคน ตอนแรกคิดว่าการแวะทานของพวกนี้เสียเวลา แต่กลับปรากฏว่าการแวะทานของพวกนี้กลับทำให้ร่างกายเราสดชื่น กระปี้กระเปร่ามากขึ้น โดยเฉพาะน้ำเกลือแร่และกล้วยหอมที่ภายหลังจากทานแล้วผมรู้สึกสดชื่นมากขึ้น มีแรงวิ่งต่อได้สบายๆ ผมยังคงวิ่งต่อเนื่องมาจนถึงระยะ ๔๐ กิโลเมตรโดยไม่ได้หยุดพักเลย แปลกใจกับตัวเองว่าไปเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน วิ่งเอาๆๆไม่เคยหยุดเลย วิ่งไปในใจก็คิดแต่เวลา "๔ ชั่วโมง ๕๗ นาที" ผมวิ่งจนมาถึงบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำอาราซึ่งใจชื้นขึ้นเพราะเป็นสัญลักษณ์ว่าเหลือระยะทางไม่ถึง ๒ กิโลเมตรก็จะถึงเส้นชัยแล้ว ตอนนั้นดูเวลาแล้วรู้ว่้าถ้ารักษาความเร็วขนาดนี้เราสามารถไปถึงเส้นชัยภายในเวลา ๔ ชั่วโมง ๕๗ นาทีได้สำเร็จ แต่ผมไม่ประมาท..ชะล่าใจไม่ได้...เพราะยังมีเรื่องของความไม่แน่นอน อาจจะมีอาการบาดเจ็บซึ่งทำให้ทำเวลาได้แย่ลงก็ได้ เหลือระยะทางอีก ๕๐๐ เมตรสุดท้าย คนกำกับจุดเขาตะโกนบอกนักวิ่งว่า "เหลืออีกแค่ ๕๐๐ เมตรเท่านั้น พยายามวิ่งต่อไปให้ถึงเส้นชัยนะ" ตอนนั้นผมกลับพบว่ามีแรงก๊อกสอง เร่งขึ้นมาได้อีกจนตัวผมเองประหลาดใจทั้งที่เราวิ่งมาร่วม ๔๐ กิโลเมตรแล้วก็ตาม แรงมันมาจากไหน ทำไมยังสามารถเร่งขึ้นมาได้อีก? ได้ยินเสียงกลองไทโกะที่เส้นชัยชัดเจนขึ้น ผมวิ่งมาจนเหลือราวๆ ๕๐ เมตรสุดท้าย ดูจากนาฬิกาข้อมือแล้วยังสามารถวิ่งทำเวลาได้ภายใน ๔ ชั่วโมงกับ ๕๑ นาทีทัน ผมเร่งฝีเท้าสุดขีดราวกับแข่งวิ่งระยะ ๑๐๐ เมตรเพื่อให้สถิติประวัติศาสตร์ฟูลมาราธอนครั้งแรกในชีวิตบันทึกเอาไว้ที่่ ๔ ชั่วโมง ๕๑ นาทีสำเร็จ รองเท้าผมวิ่งแตะผ่านเซ็นเซอร์ ได้ยินเซ็นเซอร์ส่งเสียง วี๊ดๆ.....ดังนานๆอยู่สองครั้ง การแข่งขันโตเกียวอารากาว่ามาราธอนของผมเป็นอันสิ้นสุดลง มองดูนาฬิกาข้อมืออย่างภูมิใจ ผมทำเวลาได้ ๔ ชั่วโมง ๕๑ นาทีสำเร็จ ผมไม่เคยยิ้มอย่างมีความสุขแบบนี้มานานมากแล้ว พอนั่งพัก....ปวดขาราวกับขาจะขาดออกมาให้ได้ เดาว่าในระหว่างที่วิ่งที่มีสมาธิืจดจ่ออยู่กับเป้าหมายเรื่องของเวลาที่ต้องกาีืรทำให้ได้ ร่างกายคงหลั่งฮอร์โมนแอดรีนารีนออกมาจนทำให้เราคลายความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ พลังงานที่ฉีดออกมาทำให้เราสามารถทำในสิ่งเหลือเชื่อที่สำหรับตัวผมถือว่าเป็นปาฏิหาริย์ออกมา เคยดูเทปบันทึกคำให้สัมภาษณ์ของนักกีฬาเหรียญเงินโอลิมปิกมาราธอนหญิง ที่บาเซโลน่า และเหรียญทองแดงโอลิมปิกมาราธอนหญิง ที่แอตแลนต้า ที่ชื่อ ยูโกะ อาริโมโตะ ภายหลังจากที่เขาคว้าเหรียญทองแดง โดยเขากล่าวว่า ????????????????????--เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกชื่นชมตัวเอง-- การที่ผมแข่งมาราธอนวันนี้..ผมเข้าใจความรู้สึกของยูโกะมากๆ...ผมไม่เคยวิ่งระยะไกลขนาดนี้มาก่อน เกิดมาไม่เคยเล่นกีฬาโหดๆแบบนี้ แล้วก็ไม่เชื่อในพลังที่อยู่ภายในว่าจะวิ่งได้โดยไม่หยุดตลอดระยะทาง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร ที่สำคัญผมพิสูจน์ว่าพลังจิตใต้สำนึกสามารถทำในสิ่งที่ผมเชื่อว่าผมสามารถวิ่งได้ด้วยเวลา ๔ ชั่วโมง ๕๗ นาทีให้กลายเป็นจริงได้ มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่แม้แต่ตัวผมก็ตอบไม่ได้จนถึงตอนนี้ว่าไปเอาแรงมาจากไหน เป็นไปได้อย่างไรที่ตอนแข่งจะทำเวลาดีกว่าตอนซ้อมถึง ๑ ชั่วโมง เวลาที่ผมทำได้ในการแข่งขันโตเกียวอารากาว่ามาราธอนอาจจะไม่ใช่เวลาที่เร็วนักเมื่อเปรียบเทียบกับนักวิ่งอีกหลายๆท่าน แต่สำหรับผม...นี่เป็นรางวัลตอบแทนผลของความพยายามที่ผมไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการวิ่ง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตรที่ผมภูมิใจมากๆ การวิ่งมาราธอนให้ข้อคิดดีๆแก่ผมหลายๆอย่าง " มาราธอนก็เหมือนชีวิตของผู้คน คุณอาจจะทำเวลาได้ไม่ดีในช่วง ๑๐ กิโลเมตรแรก หรือว่า ๒๐ กิโลเมตรแรก แต่ไม่ว่าคุณจะด่าทอตัวเองอย่างไรคุณก็แก้ไขอะไรมันไม่ได้ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ คุณควรทิ้งเวลาที่วิ่งผ่านมาในอดีตไว้ข้างหลังและหาทางว่าจะวิ่งต่อไปอย่างไรให้ระยะทางที่เหลืออีก ๒๒ กิโลเมตรกว่าๆเป็นเวลาที่ดีกว่าเดิม เหมือนกับในชีวิตจริงของผู้คน เรื่องในอดีต..ไม่ว่าคุณจะผิดพลาดอย่างไร คุณย้อนกลับไปแก้ไขชีวิตในอดีตไม่ได้ แต่จะคิดหาทางทำอย่างไรให้ชีวิตจากนี้ไปเป็นชีวิตที่ดีกว่า โดยไม่เสียเวลามานั่งคร่ำครวญกับอดีตที่แก้ไขไม่ได้ ตอนที่เราวิ่งมาราธอน...มีความเหน็ดเหนื่อย มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราหยุดวิ่งเฉยๆ ไม่ยอมวิ่งต่อ เราย่อมไปไม่ถึงเป้าหมาย ความพยายามที่เราพยายามมาทั้งหมดก็สูญเปล่า ไม่มีใครช่วยเราให้ไปถึงเป้าหมายได้นอกจากตัวเราเอง ถ้าเราพยายาม..โดยไม่ละความตั้งใจ...เราย่อมมีผลลัพธ์คือเป้าหมายเป็นของตอบแทน จะเร็วหรือช้าก็อยู่ที่ฝีเท้าที่เรารู้จักเร่งหรือว่าแผ่วเบาเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ในชีวิตจริงของผู้คนก็เป็นแบบนั้นไม่ใช่หรือ? ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง คนที่ไม่ละความเพียรย่อมบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ จะเร็วหรือว่าช้าขึ้นอยู่กับอุบายในการใช้ความเพียรและใช้ปัญญาในการพัฒนาตนหาทางแก้ไขสิ่งต่างๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คนที่ละวางความเพียรเพราะเห็นแก่ความเหนื่อยหน่าย ความยากลำบาก...โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ย่อมดูเหมือนไกลออกไปเรื่อยๆ หรืออาจจะไม่มีโอกาสสัมผัสเลย สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็เป็นได้แค่สิ่งที่ตั้งใจ ไม่มีโอกาสได้บรรลุความตั้งใจ" ภายหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันโตเกียวอารากาว่ามาราธอน...ผมรู้สึกเหมือนชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ มีความหวัง และประสบการณ์จากการวิ่งมาราธอนครั้งนั้นเปลี่ยนเป็นพลังขับดันให้ผมเดินหน้าทำในสิ่งที่ยากๆต่อไปโดยไม่ลดละความตั้งใจ มีคนเปรียบเทียบว่าหลักสูตรปริญญาเอกเหมือนวิ่งมาราธอน...ผมว่าเขาเปรียบได้ไม่ผิดนัก หลายๆคนที่คิดว่าหลักสูตรปริญญาเอกภายหลังจากเรียนจบดูโก้เก๋ แต่พอเข้ามาเรียนจริงๆ..หลายคนเลิกล้มความตั้งใจกลางคันเพราะเขาเหนื่อย เขาท้อมากๆ กับอนาคตที่มองไม่เห็นหนทางชัดเจนว่าจะจบได้เมื่อไหร่? เพราะชีวิตนักศึกษาปริญญาเอกขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างเดียว ถ้าเพียงอาจารย์ไม่เมตตา...จะจบเมื่อไหร่ก็ตอบไม่ได้ ดังนั้นชีวิตจริงของนักศึกษาปริญญาเอก...จึงไม่ได้สวยหรูนัก แต่ก็มีนักศึกษาปริญญาเอกจำนวนมากที่อดทนถึงที่สุด เพราะเขาตั้งใจเพื่อจะจบหลักสูตรปริญญาเอก...เขาอาจจะใช้เวลามากกว่า ๕ ปี หรือบางคนกว่า ๑๐ ปีที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อสำเร็จการศึกษา ในที่สุดเขามีปริญญาเอกเป็นรางวัลตอบแทน จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย